องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของกากมะเขือเทศ

การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดน้ำจากกากมะเขือเทศ (tomato pomace) พบว่าสารสำคัญคือ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ coumaric acid, floridzin, floretin, procyanidin B2, luteolin-7-O-glucoside, kaempferol และ quercitin และสารนิวคลีโอไซด์ ได้แก่ adenosine, inosine และ guanosine การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกากมะเขือเทศ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (phase I) การประเมินความปลอดภัย โดยให้อาสาสมัครรับประทานสารสกัดน้ำจากกากมะเขือเทศ วันละ 1, 2.5 และ 10 ก. ติดต่อกัน 5 วัน ไม่พบความเป็นพิษหรือความผิดปกติต่อค่าชีวเคมีของอาสาสมัคร อย่างไรก็ตามการรับประทานที่ขนาด 10 ก. ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ในระบบทางเดินอาหารในอาสาสมัคร 2 ราย และการศึกษาระยะที่ 2 (phase II) ให้อาสาสมัครรับประทานสารสกัดน้ำจากกากมะเขือเทศวันละ 1 และ 2.5 ก. หรือยาหลอก นาน 5 วัน จากนั้นทำการทดสอบฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดแบบนอกร่างกาย (ex vivo) พบว่าเฉพาะสารสกัดน้ำจากกากมะเขือเทศขนาด 1 ก. มีผลต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดจากการเหนี่ยวนำด้วย adenosine diphosphate ได้อย่างมีนัยสำคัญ และไม่พบฤทธิ์นี้ในกลุ่มที่ได้รับขนาด 2.5 ก. และยาหลอก แสดงให้เห็นว่ากากมะเขือเทศมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดเมื่อรับประทานที่ขนาด 1 ก./วัน

Nutrients 2019;11:456-65