ผลของการรับประทานแตงโมต่อการตอบสนองความอิ่มและปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่ภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วน

การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครผู้ใหญ่ภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วนทั้งหญิงและชาย มีดัชนีมวลกายอยู่ที่ 25-40 กก./ม.2 จำนวน 33 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดสอบที่ให้รับประทานแตงโม 2 ถ้วย ปริมาณ 92 กิโลแคลอรี่/วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ให้รับประทานคุกกี้ไขมันต่ำ (Nabisco vanilla wafer cookies) ซึ่งมีปริมาณแคลลอรี่เท่ากับกลุ่มทดสอบ เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วสลับการรักษา โดยมีระยะพัก (washout) 2-4 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่าการรับประทานแตงโมมีผลต่อการตอบสนองของความอิ่ม (ความรู้สึกหิว การบริโภคอาหาร ความต้องการรับประทานอาหาร ความรู้สึกอิ่ม) หลังจากรับประทาน 90 นาที ได้ดีกว่ากลุ่มที่รับประทานคุกกี้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) กลุ่มที่รับประทานแตงโมมีผลต่อการลดน้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย ค่าความดันของเลือดสูงสุดขณะหัวใจห้องล่างบีบตัว และอัตราส่วนของรอบเอวต่อรอบสะโพก (waist-to-hip ratio) (p ≤0.05) ส่วนกลุ่มที่รับประทานคุกกี้มีผลเพิ่มความดันโลหิตและไขมันของร่างกาย (p < 0.05) กลุ่มที่รับประทานแตงโมมีภาวะเครียดจากการออกซิเดชันต่ำกว่า ที่สัปดาห์ที่ 4 ของการทดสอบ (p = 0.034) และมีความสามารถในการต้านออกซิเดชันโดยรวมเพิ่มขึ้น (p = 0.003) จากผลการทดสอบนักวิจัยสรุปว่าการรับประทานแตงโมมีผลในการช่วยลดน้ำหนักตัว ลดค่าดัชนีมวลกาย และลดความดันโลหิตได้ผลดีกว่าการรับประทานคุกกี้ไขมันต่ำ ซึ่งอาจจะมีผลในการช่วยปรับปรุงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วน และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการควบคุมน้ำหนักที่ดีที่สุด คือ การควบคุมอาหาร เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลากหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

Nutrients. 2019;11(3).pii:E595.doi:10.3390/nu11030595.