ผลของกระเจี๊ยบแดงต่อปริมาณธาตุเหล็กในผู้ป่วยโรคโลหิตจาง

การศึกษาผลของการดื่มสารสกัดมาตรฐานของน้ำดอกกระเจี๊ยบแดงต่อปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายของผู้ป่วยโรคโลหิตจางจำนวน 130 คน ทั้งเพศชายและหญิง (อายุระหว่าง 18-50 ปี) โดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ดื่มสารสกัดน้ำกระเจี๊ยบแดงวันละ 1,000 มล. (เทียบเท่ากับการได้รับปริมาณสารสำคัญคือ ascorbic acid 831 มก./ก. และธาตุเหล็ก 78 มก./ก.) กลุ่มที่ 2 ดื่มสารสกัดน้ำกระเจี๊ยบแดงวันละ 1,500 มล. (เทียบเท่ากับการได้รับปริมาณสารสำคัญคือ ascorbic acid 1,246.5 มก./ก. และธาตุเหล็ก 117 มก./ก.) กลุ่มที่ 3 ดื่มสารสกัดน้ำกระเจี๊ยบแดงวันละ 2,000 มล. (เทียบเท่ากับการได้รับปริมาณสารสำคัญคือ ascorbic acid 1,662 มก./ก. และธาตุเหล็ก 156 มก./ก.) และกลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม ให้รับประทานยาเม็ด ferrous sulphate ขนาดวันละ 200 มก. (เทียบเท่ากับการได้รับธาตุเหล็ก 65 มก.) นานติดต่อกัน 30 วัน ทำการเก็บตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุเหล็กในเลือด (ferritin) ค่าฮีโมโกลบิน และค่าดัชนีบ่งชี้ถึงกระบวนการสร้างเม็ดเลือดทั้งช่วงก่อนและหลังการทดลอง ผลจากการศึกษาพบว่า ค่า ferritin ที่ตรวจวัดได้ในเลือดของผู้ป่วยที่ดื่มสารสกัดน้ำกระเจี๊ยบในกลุ่มที่ 2 และ 3 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการทดลอง แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่มีผลต่อค่าเลือดอื่นๆ นอกจากนี้ มีรายงานถึงอาการข้างเคียงที่พบบ่อยจากการใช้ในผู้ป่วยบางราย ได้แก่ มาลาเรีย การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อาการปวดศีรษะ ปัสสาวะบ่อยขึ้น และมีค่าเอนไซม์ในตับสูงขึ้น ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การดื่มสารสกัดน้ำดอกกระเจี๊ยบแดงไม่มีผลช่วยเพิ่มปริมาณธาตุเหล็กในผู้ป่วยโรคโลหิตจางแต่อย่างใด

J Ethnopharmacol. 2017; 209: 288-93.