สารสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของผลกุหลาบป่า

ผลกุหลาบ (rose hip) ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในรูปของอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งการใช้ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง เพราะในผลของผลกุหลาบมีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น วิตามินซี-อี, สารในกลุ่ม phenolics, carotenoids, tocopherols, terpenes, galactolipids, fatty acids, organic acids, น้ำตาล, โปรตีน และแร่ธาตุ โดยเฉพาะสาร ellagic acid ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม phenolics ที่พบได้มากที่สุดในผลกุหลาบ และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย ซึ่งโดยปกติผลกุหลาบที่นิยมนำมาใช้ศึกษา จะเป็นสายพันธุ์ Rosa canina อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ R. dumalis Bechst., R. dumetorum Thuill. และ R. sempervirens L. พบว่ายังมีรายงานการศึกษาสารสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาน้อย ดังนั้น การศึกษานี้จึงเน้นศึกษากุหลาบทั้ง 3 สายพันธุ์ดังกล่าว โดยทำการศึกษาจากสารสกัดน้ำและสารสกัดเมทานอลของผลสดและผลแห้ง รวมทั้งรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ถูกแปรรูป ได้แก่ สารสกัดน้ำเข้มข้น (Purée) และแยมผลกุหลาบ ผลการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า ในผลกุหลาบประกอบด้วยสารประกอบ phenolics จำนวน 45 ชนิด (สาร phenolic acids 15 ชนิด, สาร flavonoids 25 ชนิด, สาร coumarins 3 ชนิด และสาร lignans 2 ชนิด) โดยมีสาร ellagic acid เป็นสารสำคัญที่พบได้มากที่สุดในผลของกุหลาบทั้ง 3 ชนิด ซึ่งพบว่าผลสดของ R. dumalis และ R. sempervirens มีปริมาณสาร ellagic acid มากกว่าในผลสดของราสพ์เบอร์รีแดง (red raspberry) และสตรอว์เบอร์รี (strawberry) เมื่อพิจารณาจากรูปแบบสารสกัดในด้านผลรวมของสารสำคัญทั้งหมดพบว่าในสารสกัดน้ำเข้มข้นจะมีปริมาณของ total phenolic, total flavonoid, และ ascorbic acid มากที่สุด โดย R. sempervirens เป็นสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญมากที่สุด ส่วนการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระพบว่าสารสกัดน้ำเข้มข้นของ R. dumalis มีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดเมื่อทดสอบด้วย DPPH และ FRAP assays ซึ่งผลดังกล่าวไม่สัมพันธ์กับปริมาณสารเคมีที่พบ จึงคาดว่าอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของผลกุหลาบ การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase (Anti-AChE activity) พบว่าผลกุหลาบทั้ง 3 ชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งได้ปานกลาง (ค่า IC50 1.23 - 7.97 มก./มล.) โดยสารสกัดเมทานอลของทั้งผลสดและผลแห้งจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งดีกว่าสารทดสอบอื่น ซึ่งสารสกัดเมทานอลของผลแห้งสายพันธุ์ R. sempervirens มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์มากที่สุด การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย cyclooxygenase–1 (COX–1) และ 12–lipoxygenase (12–LOX) assay พบว่าสารสกัดเมทานอลของ R. dumalis มีประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบได้ดีที่สุด (ยับยั้งการสร้าง 12(S)-hydroxy-(5Z,8E,10E)-heptadecatrienoic acid (12-HHT), thromboxane B2 (TXB2) ใน COX–1 assay และยับยั้งการทำงานของ 12-LOX ได้) ในขณะที่ R. dumetorum และ R. sempervirens สามารถยับยั้งการสร้าง prostaglandin E2 (PGE2) ได้ นอกจากนี้ ในการทดสอบฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปากมดลูกชนิด HeLa, เซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF7, เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด HT–29, และเซลล์ปอดปกติชนิด MRC–5 พบว่า R. sempervirens สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ HeLa และ HT–29 ได้ในระดับปานกลาง แต่สารทดสอบทุกชนิดไม่มีผลต่อเซลล์ MCF7 และ MRC–5 จากผลการทดสอบทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ผลกุหลาบเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินซี และสารประกอบ phenolics โดยเฉพาะสาร ellagic acid นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ AChE ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงร่างกายได

Food Chem. 2018;241:290-300.