ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านเบาหวานจากเปลือกขนุน

ขนุน (Artocarpus heterophyllus Lam.) เป็นผลไม้ที่ปลูกกันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ศรีลังกา อินเดีย พม่า จีน เป็นต้น ผลของขนุนประกอบด้วย เปลือก เนื้อหุ้มเมล็ด ซัง และเมล็ดขนุน ซึ่งส่วนเปลือกเป็นของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปขนุน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสารในกลุ่ม phenolics และ flavonoids ระหว่างส่วนต่างๆ ของขนุน พบว่า สารสกัด 90% เมทานอลจากเปลือกขนุนมีปริมาณมากที่สุด โดยมีสารในกลุ่ม phenolics มากกว่าสารสกัดจากส่วนเนื้อหุ้มเมล็ด ซัง และเมล็ด 4.65, 4.12 และ 4.95 เท่าตามลำดับ และในส่วนของการทดสอบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH· และ ABTS รวมทั้งความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล โดยถ้าสามารถยั้บยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้ได้จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในช่วงอดอาหารและช่วงเวลาหลังอาหารของผู้ป่วยเบาหวานได้ พบว่าสารสกัดจากเปลือกขนุนมีฤทธิ์ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นของขนุนทั้ง 3 การทดสอบ และความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ของสารสกัดเปลือกขนุนนั้นให้ผลดีกว่ายามาตรฐาน acarbose โดยมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยั้บยั้งการทำงานของเอนไซม์ได้ 50% (IC50) น้อยกว่าถึง 11.8 เท่า การวิเคราะห์ทางเคมีของสารสกัดจากเปลือกขนุนด้วยวิธี high performance liquid chromatography electrospray ionization quadruple time-of-flight tandem mass spectrometry (HPLC-ESI-QTOF-MS/MS) พบสารประกอบจำนวน 53 ชนิด โดยมีสารในกลุ่ม prenylflavonoids, hydroxycinnamic acids และ glycosides ซึ่งเป็นกลุ่มสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ จากผลการทดลองทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าเปลือกขนุนมีศักยภาพในการเป็นแหล่งของสารสำคัญที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านเบาหวานได้

Food Chem 2017;234:303–13.