ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของราสพ์เบอร์รีแดงในหนูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานและมีภาวะอ้วน

การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของราสพ์เบอร์รีแดง (Red raspberry; Rubus idaeus L.) โดยให้หนูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานและมีภาวะอ้วน กินอาหารที่มีส่วนผสมของผงแห้งของผลราสพ์เบอร์รีแดง (freeze-dried raspberry) ร้อยละ 5.3 เป็นเวลานาน 8 สัปดาห์ พบว่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระภายในร่างกายดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และมีระดับ interleukin (IL)-6 ซึ่งเป็นสารก่อการอักเสบในเลือดต่ำกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับราสพ์เบอร์รีแดง นอกจากนี้ยังพบว่าการได้รับราสพ์เบอร์รีแดงยังส่งผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ glutathione peroxidase ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในตับและในเลือดได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมถึง 4.3 และ 2.1 เท่าตามลำดับ (p<0.05) แต่ไม่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase และ catalase (p>0.05) สำหรับตัวชี้วัดทางชีวภาพ (Biomarkers) ต่อความผิดปกติอื่นๆ ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม โดยพบว่าระดับของ total cholesterol, LDL และ resistin ในเลือดของหนูที่ได้รับราสพ์เบอร์รีแดงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) แต่ในขณะเดียวกันระดับของ HDL ก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทางผู้วิจัยให้เหตุผลว่าน่าจะเกิดจากการปรับสภาพของร่างกายเมื่อร่างกายมีการกำจัดไขมันออก (counter-compensate) และการศึกษาทางเคมีพบว่าสารออกฤทธิ์ที่พบในราสพ์เบอร์รีแดงน่าจะเป็นสารกลุ่มโพลีฟีนอลิก (polyphenolics) และใยอาหาร จากผลการทดลองในสัตว์ทดลองนี้สรุปได้ว่า การรับประทานผลราสพ์เบอร์รีแดงที่มีสารต้านอนุมูลอิสระน่าจะช่วยป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชันและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดจากสารอนุมูลอิสระซึ่งมีสาเหตุมาจากเบาหวานและภาวะอ้วนได้

Food Chem 2017;227:305-14.