ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ของสารสำคัญจากเปลือกมังคุด

การศึกษาฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสารสำคัญต่างๆ ที่แยกได้จากสารสกัดคลอโรฟอร์มจากเปลือกมังคุด (Garcinia mangostana L.) โดยทำการทดสอบกับเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF-7 เซลล์มะเร็งลำไส้ชนิด HCT-116 และเซลล์มะเร็งตับชนิด HepG2 พบว่ามีเพียงสาร garcinone E ที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งทุกชนิดอย่างชัดเจน (ค่า IC50 อยู่ในช่วง 15.8 - 16.7 ไมโครโมลาร์) ในขณะที่สาร mangostanaxanthone IV, β-mangostin, และ α-mangostin ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งทุกชนิดในระดับอ่อนถึงปานกลาง (ค่า IC50 อยู่ในช่วง 45.7 - 116.4 ไมโครโมลาร์) เมื่อทำการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ในเซลล์ HepG2 และ HCT116 พบว่าสาร garcinone E ทำให้วัฏจักรของเซลล์หยุดที่ระยะ G0/G1 และทำให้เซลล์ทั้ง 2 ชนิดเกิดการตายแบบ apoptosis และ necrosis ในขณะที่สาร mangostanaxanthone IV ทำให้เกิดการตายแบบ apoptosis และ necrosis เฉพาะกับเซลล์ HCT116 เท่านั้น ส่วนสาร α-mangostin ทำให้เกิดการตายแบบ apoptosis และ necrosis กับเซลล์ HepG2 และทำให้เกิดการตายแบบ necrosis ในระดับปานกลางกับเซลล์ HCT116 จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสำคัญต่างๆ ที่แยกได้จากสารสกัดคลอโรฟอร์มจากเปลือกมังคุด มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้หลายชนิดซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็ง

J Ethnopharmacol 2017;198:302-12.