การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มและปกปิดสองทางเทียบกับกลุ่มยาหลอก (double-blind randomized controlled trial) ในอาสาสมัครเพศชายสุขภาพดี จำนวน 30 ราย ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อภายหลังจากการออกกำลังกายนาน 24 ชั่วโมง (delayed onset muscle soreness; DOMS) โดยให้ยกน้ำหนักในท่า biceps curl โดยการยกน้ำหนักในขนาด 2- 40 กก. จากนั้นทำการแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลองซึ่งได้รับครีมมีส่วนประกอบของสารสกัดน้ำมันไพล 30 กรัม โดยไม่มีส่วนผสมของยาระงับปวด และกลุ่มควบคุม ซึ่งได้รับครีมสูตรเดียวกับกลุ่มทดลองแต่ผสมกลิ่นไพลแทนสารสกัดน้ำมันไพล ในการทดลองจะให้กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มทาครีมที่ได้รับบริเวณกล้ามเนื้อแขนด้านหน้า (biceps) วันละ 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน และเย็น) จากนั้นทำการประเมินผลโดยการวัดระดับความปวดด้วยตัวเลข (numeric rating scale, NRS) และวัดค่าแรงกดที่เริ่มรู้สึกเจ็บ (pressure pain threshold, PPT) ทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่ ภายหลังจากออกกำลังกายทันทีและภายหลังจากการออกกำลังกาย 24 ชั่วโมง และ 72 ชั่วโมง ผลการศึกษาพบว่า ทั้งสองกลุ่มมีค่ามีระดับความเจ็บปวดลดลงเมื่อเทียบกับก่อนทาครีม แต่กลุ่มทดลองมีค่า NRS ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (3.73± 1.53 เทียบกับ 2.13 ±1.92, p=0.027) นอกจากนั้นกลุ่มทดลองยังมีแนวโน้มที่มีความทนต่อความรู้สึกเจ็บสูงกว่ากลุ่มควบคุม โดยค่า PPT ของกลุ่มทดลองมีค่าสูงกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่พบความแตกต่างทางสถิติ โดยทั้งสองกลุ่มไม่พบอาการข้างเคียงจากการทาครีม สรุปได้ว่าครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดไพลสามารถลดอาการปวดกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกายได้ดีกว่าครีมที่ไม่มีส่วนประกอบของสารสกัด
เชียงใหม่เวชสาร 2560;56(2):69-79.