ฤทธิ์ต้านมะเร็งของใบย่านาง

การศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ ไดคลอโรมีเทน เอทิลอะซีเตรท เมทานอล และน้ำจากใบย่านาง และสาร oxoanolobine ที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอล ในเซลล์มะเร็ง 3 ชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งช่องปาก (KB), มะเร็งปอด (NCI-H187) และมะเร็งเต้านม (MCF-7) พบว่าสารสกัดเมทานอลมีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านเซลล์มะเร็งปอด และสารสกัดน้ำมีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านเซลล์มะเร็งช่องปาก โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ 50% (IC50) เท่ากับ 11.93± 4.52 มคก./มล. และ 12.06±0.84 มคก./มล. ตามลำดับ ขณะที่สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์และไดคลอโรมีเทน ไม่มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งทั้ง 3 ชนิด สาร oxoanolobine มีฤทธิ์ปานกลางในการต้านเซลล์มะเร็งปอด (ค่า IC50 เท่ากับ 27.60±4.30 มคก./มล.) เมื่อเทียบกับยา doxorubicin และ ellipticine สรุปได้ว่าใบย่านางมีสารที่เป็นองค์ประกอบหลักคือ oxoanolobine และมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้

Pharmacogn J 2016;8(1)1-3.