ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร isorhamnetin, hyperoside และสารสกัดเอทานอลจากผักชีล้อม (Oenanthe javanica) โดยทำการทดสอบในหลอดทดลอง (in vitro) ด้วยเซลล์แมคโครฟาจ (macrophage) ของมนุษย์และหนูเม้าส์พบว่า สารสกัดเอทานอลผักชีล้อมมีผลลดการหลั่งไซโตไคน์ interleukin-1β (IL-1β) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยกระตุ้นการทำงานของเซลล์แมคโครฟาจ และยับยั้งการเกิดโครงสร้างเชิงซ้อน Asc pyroptosome ที่เกิดจากการจับกันของ caspase 1 กับ NOD-like receptors (NLRs) ได้แก่ NLRP3, NLRC4 และ AIM2 ซึ่ง Asc pyroptosome จะทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์ให้ถูกทำลายหรือเซลล์ตายจากการอักเสบ ในขณะที่สาร isorhamnetin มีผลยับยั้งการหลั่ง IL-1β, IL-18, และ caspase-1 ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ NLRP3 และ AIM2 และลดการแสดงออกของไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบได้แก่ pro-IL-1β, tumor necrosing factor-α (TNF-α), IL-6 และ NLRP3 ที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย lipopolysacchalide (LPS) ส่วนสาร hyperoside มีผลยับยั้งการหลั่ง IL-1β, IL-18, และ caspase-1 ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ NLRC4 และ AIM2 แต่ไม่มีผลต่อการแสดงออกของไซโตไคน์ จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าผักชีล้อมมีฤทธิ์ต้านกระบวนการอักเสบได้
Phytomedicine. 2017; 24: 77-86.