ฤทธิ์ไล่ยุงของน้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา สะระแหน่ฝรั่ง ยูคาลิปตัส และเนียมหูเสือ

ทดสอบฤทธิ์ไล่ยุง (repellent activity) ของน้ำมันหอมระเหยจากใบสดของสมุนไพร 4 ชนิด ได้แก่ กะเพรา (Ocimum sanctum), สะระแหน่ฝรั่ง (Mentha piperita), ยูคาลิปตัส (Eucalyptus globulus) และเนียมหูเสือ (Plectranthus amboinicus) ที่สกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ (hydrodistillation) และเตรียมเป็นสารละลายน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพรแต่ละชนิดความเข้มข้นร้อยละ 20 ในเอทานอล และสารละลายน้ำมันหอมระเหยผสมของสมุนไพรทั้งสี่ชนิดในอัตราส่วนเท่ากัน ความเข้มข้นร้อยละ 5 แล้วทดสอบฤทธิ์ไล่ยุงกับยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เพศเมียอายุ 3-5 วัน โดยเติมสารละลาย 100 ไมโครลิตรในจานเพาะเชื้อที่วางไว้ในกล่องทดสอบ และประเมินการเกาะของยุง (mosquito landing) ทุกๆ 30 นาที จนครบ 6 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมบวกซึ่งใช้สารไล่แมลงมาตรฐาน DEET (N, N-diethyl-m-toluamide) ความเข้มข้นร้อยละ 20 ในเอทานอล และกลุ่มควบคุมลบซึ่งใช้แอลกอฮอล์อย่างเดียว ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหยของกะเพรา สะระแหน่ฝรั่ง เนียมหูเสือ และน้ำมันหอมระเหยผสมสามารถป้องกันการเกาะของยุงได้นานถึง 6 ชั่วโมง เช่นเดียวกับกลุ่มที่ใช้ DEET ส่วนน้ำมันยูคาลิปตัสมีผลป้องกันการเกาะได้ 1 ชั่วโมง 30 นาที ในขณะที่กลุ่มควบคุมลบพบการเกาะและกินอาหาร (feeding) ของยุง จากผลการทดสอบจึงสรุปได้ว่าน้ำมันหอมระเหยของกะเพรา สะระแหน่ฝรั่ง ยูคาลิปตัส เนียมหูเสือ และน้ำมันหอมระเหยผสมที่มีความเข้มข้นเพียงร้อยละ 5 มีฤทธิ์ในการไล่ยุงและป้องกันยุงลายบ้านซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อโรคไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา และไข้เหลือง อย่างไรก็ตามควรมีข้อมูลการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับความเป็นพิษหรืออาการข้างเคียงของการใช้สมุนไพรทั้ง 4 ชนิด ในการไล่ยุงต่อไป

Parasitol Res 2017;116:821–25.