การศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นข้อเข่าเสื่อม จำนวน 144 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกได้รับการรักษาด้วยยาไดโคลฟีแนค กลุ่มที่สองได้รับการรักษาโดยยาสหัศธารา เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม และประเมินผลด้านอาการปวดข้อ อาการข้อฝืด ข้อตึงและการใช้งานข้อ รวมทั้งติดตามภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น อาการปวดท้อง เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น พบว่าผลการรักษาประเมินด้านอาการปวดข้อ อาการข้อฝืด ข้อตึง และการใช้งานข้อ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.162, 0.389 และ 0.534 ตามลำดับ) ผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับยาไดโคลฟีแนคเกิดผลข้างเคียงเป็นอาการปวดท้อง 5 ราย มากกว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสหัศธาราอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value=0.029) สรุปได้ว่ายาสหัศธารามีประสิทธิผลในการลดอาการปวดเข่าของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมไม่แตกต่างกันกับยาไดโคลฟีแนค แต่เกิดผล ข้างเคียง (ปวดท้อง) น้อยกว่า
เอกสารรวบรวมบทความ บทคัดย่อที่นำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 13; 31 สค. - 4 กย. 2559: หน้า 89.