การดื่มน้ำส้มหมัก (orange fermented) ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

ศึกษาผลการดื่มน้ำส้มหมักต่อความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในหนูเม้าส์ โดยทดลองป้อนน้ำส้มหมักให้แก่หนูในขนาดที่เทียบเท่ากับการดื่มในคนคือ 250 และ 500 มล./วัน เปรียบเทียบกับการป้อนน้ำส้มคั้น และน้ำเปล่า (กลุ่มควบคุม) นาน 12 สัปดาห์ พบว่าการดื่มน้ำส้มหมักมีผลเพิ่มระดับเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านอนุมูลอิสระได้แก่ catalase, superoxide dismutase, glutathione reductase และ glutathione peroxidase เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และมีผลลดการเกิดปฏิกิริยา lipid peroxidation ซึ่งบ่งชี้ถึงการเกิดอนุมูลอิสระ และยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับภาวะการอักเสบได้แก่ Interleikin-6 และ C-reactive protein นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ค่าไขมันในเลือดยังพบว่า หนูเม้าส์ที่ดื่มน้ำส้มหมักมีระดับคอเลสเตอรอล และ LDL ลดลง ส่วนระดับ HDL ในเลือดสูงขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลจากการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการดื่มน้ำส้มหมัก โดยพบว่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และลดไขมันในเลือดของน้ำส้มหมักอาจมีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งขนาดการดื่ม 250 มล./วัน น่าจะเพียงพอต่อการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนขนาดที่เพิ่มขึ้น (500 มล./วัน) มีผลให้ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากขึ้น

Food Chem Toxicol 2015; 78: 78-85.