ฤทธิ์ลดการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระของยาริดสีดวงมหากาฬ

ยาริดสีดวงมหากาฬ เป็นตำรับยาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้ในการบรรเทาอาการริดสีดวงทวารหนัก ประกอบด้วยสมุนไพรต่างๆ รวม 22 ชนิด ได้แก่ มดยอบ ขอบชะนางแดง ขอบชะนางขาว โกฐกักกรา โกฐสอ โกฐจุฬาลำพา โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน สนเทศ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ สะค้าน สมุลแว้ง ดีปลี พริกไทย ขิง และอบเชยเทศ ในการศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบของสารสกัด 80% เอทานอลของยาริดสีดวงมหากาฬในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยวิธี cotton pellet-induced granuloma formation โดยป้อนสารสกัดขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก./วัน เป็นเวลา 14 วัน เปรียบเทียบผลกับยาต้านการอักเสบอินโดเมทาซิน (indomethacin) ขนาด 5 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ โดยที่ขนาด 50 มก./กก. จะให้ผลดีที่สุด และดีกว่ายา indomethacin สำหรับการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัด 80% เอทานอลของยาริดสีดวงมหากาฬและสมุนไพรเดี่ยวที่เป็นส่วนประกอบในตำรับยาด้วยวิธี DPPH และ lipid peroxidation inhibition พบว่าตำรับยาริดสีดวงมหากาฬ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ต้านการเกิดอนุมูลอิสระได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) = 70.2 มคก./มล. เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH และ IC50 = 5.3 มคก./มล. เมื่อทดสอบด้วยวิธี lipid peroxidation inhibition ในส่วนของสมุนไพรเดี่ยว พบว่าโกฐพุงปลา สมุลแว้ง และอบเชยเทศ มีฤทธิ์ดีสุดในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH (IC50 4.4, 5.2 และ 8.0 มคก./มล. ตามลำดับ) และในวิธี lipid peroxidation inhibition ลูกจันทน์, ดอกจันทน์, โกฐพุงปลา, สมุลแว้ง และขิง จะมีฤทธิ์ดีสุดในการต้านอนุมูลอิสระ (IC50 = 1.3, 1.7, 1.8, 2.1, และ 2.7 มคก./มล. ตามลำดับ) และมีฤทธิ์ดีกว่าสารมาตราฐาน trolox และ rutin เมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสมุนไพร จะพบว่าโกฐพุงปลามีปริมาณของสารฟีนอลิกรวมสูงสุด รองลงมาคือ สมุลแว้ง และอบเชยเทศ

Mahidol Univ J Pharm Sci 2015;42(3):144-52.