กลไกการออกฤทธิ์บรรเทาปวดของสารสกัดจากดอกบัว

การศึกษากลไกการออกฤทธิ์บรรเทาปวดของสารสกัด 95% เอทานอล และ acid–base partition จากสารสกัดคลอโรฟอร์ม (CHCl3) ของดอกบัว (Nelumbo nucifera Geartn.) โดยทำการแยกสารสำคัญต่างๆ ออกมาด้วยวิธีทางเคมีพบว่ามีสารในกลุ่ม aporphines 3 ชนิด คือ nuciferine, N-nor-nuciferine, asimilobine, สารในกลุ่ม benzyltetrahydroisoquinoline (BTIQ) 5 ชนิด คือ armepavine, O-methylcoclaurine, N-methylcoclaurine, coclaurine, neferine และกรดไขมันที่ผสมกันระหว่าง linoleic และ palmitic acids อัตราส่วน 1:1 การศึกษาในหลอดทดลองเพื่อดูการเข้าจับกับตัวรับ cannabinoid (CB1, CB2) และ opioid delta [(δ), kappa (ĸ), mu (µ)] ซึ่งเป็นตัวรับที่มีความเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความเจ็บปวดในระบบประสาท พบว่าสาร O-methylcoclaurine, N-methylcoclaurine, coclaurine จับกับ ĸ opioid ได้ดี สาร neferine จับกับ δ- และ µ-opioid ได้ดี กรดไขมันผสม จับกับ δ opioid ได้ดี แต่ทั้งหมดไม่มีผลกับตัวรับ cannabinoid การศึกษาในหนูเม้าส์โดยการฉีดสารต่างๆ เข้าทางช่องท้องในขนาด 10, 30, 75 และ 100 มก./กก./ครั้ง เพื่อดูผลต่อการเคลื่อนไหว ภาวะการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ อุณหภูมิร่างกาย และการตอบสนองต่อความเจ็บปวด พบว่าสารที่ละลายอยู่ในชั้นกรด (acidic partition) จากสารกัด CHCl3 ขนาด 75 - 100 มก./กก./ครั้ง ทำให้การเคลื่อนไหวของสัตว์ทดลองลดลง และทำให้ภาวะการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น การตอบสนองต่อความเจ็บปวดลดลง รวมทั้งทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง และที่ขนาด 100 มก./กก. จะทำให้สัตว์ทดลองเกิดอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (clonic-tonic seizures) เมื่อถูกสัมผัส จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้สามารถสรุปได้ว่า สาร O-methylcoclaurine, N-methylcoclaurine, coclaurine, neferine และกรดไขมันผสม มีผลต่อตัวรับ opioid โดยไม่มีผลกับตัวรับ cannabinoid สารที่ละลายอยู่ในชั้นกรด (acidic partition) และจากสารสกัด CHCl3 ซึ่งอุดมไปด้วยสาร nuciferine และ N-nor-nuciferine มีผลต่อพฤติกรรมของสัตว์ทดลอง ซึ่งคาดว่าทั้งหมดน่าจะเป็นกลไกในการออกฤทธิ์บรรเทาปวดของดอกบัว

J Ethnopharmacol 2015;174:57–65