สารอาหารและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในทุเรียนพันธุ์ที่นิยมรับประทานและพันธุ์พื้นเมือง

การศึกษาเรื่องสารอาหาร สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของทุเรียนพันธุ์ที่นิยมรับประทาน ได้แก่ หมอนทอง และชะนี และพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ กระดุม และกบตาขำ ซึ่งเก็บรวบรวมจากสวนในพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรี พบว่าทุเรียนทุกสายพันธุ์ประกอบด้วยใยอาหารจำนวนมาก (7.5 - 9.1 ก./100 ก. นน.แห้ง) และมีปริมาณของคาร์โบไฮเดรทและน้ำตาลสูง (62.9 - 70.7 ก. และ 47.9 - 56.4 ก./100 ก.นน. แห้ง ตามลำดับ) ทุเรียนพันธุ์ชะนี กระดุม และกบตาขำ มีปริมาณของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acids ) (6.1 - 7.8 ก./100 ก. นน.แห้ง) > กรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acids ) (4.2 - 5.7 ก./100 ก. นน.แห้ง) > กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fatty acids) (0.8 - 1.5 ก./100 ก. นน.แห้ง) ขณะที่พันธุ์หมอนทองมีปริมาณของกรดไขมันอิ่มตัว >กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว > กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (5.1, 4.0, 1.1 ก./100 ก. นน.แห้ง ตามลำดับ) สำหรับสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่าพันธุ์กบตาขำจะมีปริมาณของสารแคโรทีนอยด์และเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ส่วนสารฟีนอลิกและฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของทุกสายพันธุ์ จะไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

Food Chem 2016;193:181-6.