การรับประทานน้ำบีทรูทมีผลลดความดันโลหิตขณะบีบตัวในผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักเกิน

การศึกษาในผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงที่มีน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกาย 25 – 40 กก./ม.2) จำนวน 21 คน อายุระหว่าง 55 – 70 ปี โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ดื่มน้ำบีทรูทเช้มช้น ขนาด 70 มล. (มีปริมาณไนเตรตประมาณ 300-400 มก.) กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมให้ดื่มน้ำแบล็คเคอเร้นท์ ในขนาด 200 มล. (มีปริมาณไนเตรตประมาณ 2.7±0.1 มก.) ในตอนเช้า วันละ 1 ครั้ง นาน 3 สัปดาห์ จากนั้นในช่วงอาทิตย์ที่ 4 ซึ่งถือเป็นช่วงหลังการศึกษา ผู้ป่วยจะไม่ได้รับน้ำบีทรูทหรือแบล็คเคอเร้นท์ ทั้งนี้ระหว่างการทดลอง ผู้ป่วยจะถูกจำกัดปริมาณไนเตรต ทำการวัดความดันโลหิต 3 แบบ แบบที่ 1 เป็นการวัดความดันโลหิตหลังจากให้ผู้ป่วยนั่งพักก่อน 15 นาที โดยเจ้าหน้าที่ โดยทำการวัดความดันโลหิต 2 ครั้ง และหาค่าเฉลี่ย แบบที่ 2 เป็นการวัดความดันโลหิตใน 24 ชม. โดยวัดความดันโลหิตทุกครึ่งชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 8.00 - 22.00 น. และจากเวลา 22.00 น. – 8.00 น. วัดทุก 1 ชม. จากนั้นหาค่าเฉลี่ย แบบที่ 3 เป็นการวัดความดันโลหิตทุกวันที่บ้าน โดยผู้ป่วยวัดเองตอนเช้าและเย็น หาค่าเฉลี่ย โดยแบบที่ 1 และ 2 จะทำการวัดในช่วงเริ่มต้นของการศึกษาและหลังจากอาทิตย์ที่ 3 และ 4 ส่วนการวัดแบบที่ 3 จะทำการวัดตลอดการศึกษา ผลพบว่า หลังอาทิตย์ที่ 3 การดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้นไม่มีผลลดความดันโลหิตที่วัดด้วยแบบที่ 1 และ 2 แต่มีผลลดความดันโลหิต-ขณะบีบตัว (systolic blood pressure) เมื่อวัดด้วยแบบที่ 3 โดยความดันโลหิตขณะบีบตัวจะค่อยๆ ลดลงในสัปดาห์ที่ 3 ในช่วงที่รับประทานน้ำบีทรูทเข้มข้น แต่ความดันโลหิตขณะบีบตัวจะ กลับมาเหมือนเดิมในช่วงอาทิตย์ที่ 4 หลังจากหยุดดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้น ขณะที่กลุ่มที่ดื่มน้ำแบล็คเคอเร้นท์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า การดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้น ขนาด 70 มล. ในตอนเช้า วันละ 1 ครั้ง ในผู้สูงอายที่มีน้ำหนักเกิน อาจส่งผลดีในการลดความดันโลหิตขณะบีบตัวได้ อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มควบคุม เมื่อเปรียบเทียบโดยการวัดความดันโลหิตขณะบีบตัวใน 24 ชั่วโมงหรือหลังจากการนั่งพักก่อนการวัด

Nutrition Research 2014;34:868-75