ฤทธิ์ต้านภาวะกระดูกพรุนจากกวาวเครือ

การทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะกระดูกพรุนจากสารสกัดเอทานอลของรากกวาวเครือ (Pueraria mirifica ; PM) และสารไฟโตเอสโตรเจนที่แยกได้ เช่น genistein และ puerarin ในเซลล์สร้างกระดูกออสติโอบลาสต์ (primary osteoblasts) ของลิงบาบูนตัวเต็มวัยเพศเมีย โดยให้เซลล์ดังกล่าวได้รับ PM ขนาด 100 มคก./มล. genistein หรือ puerarin ในขนาด 1000 นาโนโมลาร์ เป็นเวลา 48 ชม. พบว่าสารทดสอบทั้ง 3 ชนิดทำให้อัตราการแบ่งตัวของเซลล์ออสติโอบลาสต์เพิ่มขึ้น ระดับ mRNA ของ alkaline phosphatase (ALP), type I collagen และ osteocalcin เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารทดสอบ ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สารทดสอบทั้ง 3 ชนิด ยังสามารถลดกระบวนการสลายกระดูกโดยเซลล์ออสติโอคลาสต์ (osteoclast-mediated bone resorption) แต่ไม่มีผลต่อระดับการสะสมแคลเซียมในเซลล์ออสติโอบลาสต์ ทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลของรากกวาวเครือและสารไฟโตเอสโตรเจนที่แยกได้ มีศักยภาพในการนำไปพัฒนาต่อเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สำหรับภาวะกระดูกพรุนได้

Phytomedicine 2014;21:1498-503.