การศึกษาฤทธิ์ของสารอนุพันธ์แซนโทน (xanthone derivative) ในสารสกัดน้ำจากเปลือกมังคุด พบว่าสารสกัดมีสารประกอบกลุ่มฟีนอลปริมาณสูง และเมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ hydroxyl radical scavenging, superoxide radical scavenging, hydrogen peroxide radical scavenging และ nitric oxide radical scavenging ให้ค่า IC50 เท่ากับ 0.48 ± 0.08, 1.88 ± 0.09, 2.20 ± 0.03, และ 0.98 ± 0.40 มก./มล. ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อทำการศึกษาผลของสารสกัดจากเปลือกมังคุดในการปกป้องประสาทที่มีการเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ Acetylcholinesterase (AChE) ทำงานผิดปกติ และเกิดความบกพร่องด้านความจำในหนูไมส์ โดยแบ่งหนูออกเป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่ม 2 ให้ 1 % ตะกั่วในน้ำ กลุ่ม 3 ให้สารสกัดแซนโทน 200 มก./กก.นน.ตัว กลุ่ม 4 ให้ตะกั่วและสารสกัดแซนโทน 100 มก./กก.นน.ตัว กลุ่ม 5 ให้ตะกั่วและสารสกัดแซนโทน 200 มก./กก.นน.ตัว กลุ่ม 6 ให้ตะกั่วและวิตามินอี 100 มก./กก.นน.ตัว และกลุ่ม 7 ให้วิตามินอี โดยให้สารต่างๆ เป็นเวลา 38 วัน พบว่าสารสกัดแซนโทนมีฤทธิ์ทำให้การทำงานของ AChE ดีขึ้น และช่วยป้องกันความเป็นพิษของตะกั่วที่ชักนำให้หนูมีพฤติกรรมด้านความจำและการเรียนรู้ลดลง โดยพบว่าค่า immobility time จากการทดสอบด้วย Forced swimming test และค่า latency time จากการทดสอบด้วย Morris water maze swimming test ลดลงในหนูที่ให้สารแซนโทน ผลการทดสอบสรุปว่า อนุพันธ์แซนโทนจากสารสกัดน้ำเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ปกป้องระบบประสาท จากฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ปรับการทำงานของ AChE และลดพฤติกรรมการเรียนรู้และความจำที่เสียหายที่เกิดจากความเป็นพิษจากสารตะกั่ว
Food Chem Toxicol 2014; 70: 151