การศึกษาอันตรกิริยาระหว่างแคปไซซิน (capsaicin; สารสำคัญที่ให้รสเผ็ดในพริก) กับยา cyclosporine (ยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ในการรักษาโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือ SLE) ในหนูแรทที่ได้รับสารแคปไซซินทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ต่อเนื่องกัน 7 วัน ก่อนการป้อนยา พบว่าแคปไซซินในขนาดต่ำ (0.3 มก./กก.) และปานกลาง (1.0 มก./กก.) ไม่มีผลต่อระดับยาในเลือด แต่เมื่อให้แคปไซซินในขนาดสูง (3 มก./กก.) จะทำให้ระดับยา cyclosporine ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ลดอัตราการกำจัดยาออกจากร่างกาย ส่งผลให้ค่าชีวประสิทธิผล (bioavailability คือ สัดส่วนของยาที่เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตและกระจายไปสู่บริเวณที่ยาออกฤทธิ์) ของยาเพิ่มขึ้น 1.44 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ในขณะเดียวกันพบว่าแคปไซซินออกฤทธิ์ลดระดับ P-glycoprotein (โปรตีนที่ทำหน้าที่ขับสารออกจากเซลล์) และ CYP3A1/2 (เอนไซม์ที่ทำหน้าที่กำจัดยาออกจากร่างกาย) บริเวณตับและลำไส้เล็ก ทั้งในระดับ mRNA และระดับโปรตีน ทำให้ร่างกายกำจัดยาออกทางตับและลำไส้ได้ลดลง ส่งผลให้ยานั้นคงอยู่ร่างกายได้นานขึ้น การศึกษานี้จึงชี้ให้เห็นว่าการบริโภคแคปไซซินในปริมาณมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของยีนของ P-glycoprotein และ CYP3A1/2 ซึ่งส่งผลต่อค่าชีวประสิทธิผลของยา cyclosporine จึงควรระมัดระวังเมื่อรับประทานร่วมกัน เพราะจะทำให้ยาออกฤทธิ์มากเกินไป หรือก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ จนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
Food Chem Toxicol 2013;62:323-8