ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดไขมันในเลือดของส้มโอพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดไขมันในเลือดของสารสกัดจากเนื้อผลส้มโอพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่ ขาวใหญ่ ทองดี ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง ท่าข่อย และทับทิมสยาม พบว่าสารสกัดจากส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ จะมีปริมาณสารฟีนอลิกสูงสุด และมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ 1,1-diphenyl-2-pireyhydrazyl radical และ hydroxyl radical ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ ขณะที่สารสกัดจากพันธุ์ขาวแตงกวาและท่าข่อย สารฟลาโวนอยด์หลักที่พบ คือ naringin และ naringenin สารสกัดจากส้มโอทั้ง 6 พันธุ์ มีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด โดยสามารถยับยั้งเอนไซม์ pancreatic lipase และ pancreatic cholesterol esterase ยับยั้งการเกิดไมเซลล์ของคอเลสเตอรอล (cholesterol micellization) และยับยั้งการจับกับกรดน้ำดีได้ เมื่อจัดแบ่งกลุ่มส้มโอทั้ง 6 พันธุ์ ด้วยการวิเคราะห์กลุ่มแบบขั้นตอน (Hierarchical Cluster Analysis) ตามองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ พันธุ์ทองดี ทับทิมสยาม ขาวแตงกวา และท่าข่อย ที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและปริมาณฟีนอลิกต่ำจนถึงปานกลาง และกลุ่มที่ 2 ได้แก่ พันธุ์ขาวใหญ่ และขาวน้ำผึ้ง ซึ่งจะมีปริมาณฟีนอลิกและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาสูง นับว่าส้มโอมีประโยชน์สามารถนำมาพัฒนาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้

Food Chemistry 2013;139:735–43.