ฤทธิ์ปกป้องตับของลิ้นจี่

การวิเคราะห์เนื้อผลลิ้นจี่ 100 ก. พบว่าลิ้นจี่พันธุ์กิมเจงมีปริมาณวิตามินซี 1.2±0.6 มก. ลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ์พบวิตามินซี 4.3±0.1 มก. และพบสารสำคัญเป็นสารกลุ่มฟีนอลิค เช่น trans-cinnamic acid และ pelargonidin-3-O-glucoside โดยพันธุ์กิมเจงพบ 9.80±0.21 มก. GAE/ก.สารสกัด และพันธุ์จักรพรรดิ์พบ 19.56±0.4 มก.GAE/ก.สารสกัด เมื่อนำสารสกัดเนื้อลิ้นจี่ไปทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่าพันธุ์กิมเจงมีค่าต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าพันธุ์จักรพรรดิ์ โดยมีค่าต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่า 11.64 และ 9.09 ก./มก. trolox ตามลำดับ เมื่อนสารสกัดไปทดสอบฤทธิ์การป้องกันการเกิดพิษต่อตับในหนูแรทจากการป้อนสาร CCl4ขนาด 2 มก./กก. น้ำหนักตัว พบว่าการป้อนสารสกัดเนื้อลิ้นจี่พันธุ์กิมเจง และพันธุ์จักรพรรดิ์ทั้งสองขนาด (500 และ 100 มก./กก.น้ำหนักตัว) หรือการป้อนยา Silymarin(ยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ปกป้องตับ) ขนาด 100 มก./กก.น้ำหนักตัว มีผลป้องกันการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ glutamate-pyruvate transaminase, glutamate-oxaloacetate transaminase และ alkaline phosphatase ได้อย่างมีนัยสำคัญ ลดจำนวนเซลล์ตาย (apoptotic cell) นอกจากนี้ยังพบว่าช่วยปรับเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของตับให้กลับสู่ค่าปกติอีกด้วย จากการทดลองนี้จะเห็นได้ว่าสารสกัดจากผลลิ้นจี่ทั้งสองสายพันธุ์ต่างมีฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษต่อตับจาก CCl4โดยอาศัยกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ ลดการออกซิเดชั่นของไขมัน รวมถึงการป้องกันเซลล์ตาย

J Ethnopharmacol2011; 136:55-66