การศึกษาผลกระทบของการดื่มชาและกาแฟเป็นประจำตั้งแต่ช่วงวัยกลางคน ต่อความเสี่ยงในการเกิดภาวะความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimers disease) ในช่วงวัยชรา โดยทำการสำรวจข้อมูลของผู้ที่มีภาวะความเสี่ยงต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความจำเสื่อมจาก North Karelia Project และ FINMONICA ประเทศฟินแลนด์ ในปี ค.ศ. 1972, 1977, 1982 และ 1987 (ช่วงอายุวัยกลางคนของอาสาสมัคร) และทำการสำรวจซ้ำในปี ค.ศ. 1998 สามารถเก็บข้อมูลของอาสาสมัครได้ 1,409 คน อายุ 65-79 ปี มีระยะเวลาในการติดตามเฉลี่ย 21 ปี จากการสำรวจพบว่า มีอาสาสมัคร 61 คน เกิดภาวะความจำเสื่อม ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ 48 คน และพบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟตั้งแต่ช่วงอายุวัยกลางคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่อสูงอายุ น้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟหรือดื่มปริมาณน้อย โดยมีอัตราความเสี่ยงลดลง 65 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 3-5 ถ้วยต่อวัน ส่วนการดื่มชาพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะความจำเสื่อมหรือการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่การดื่มกาแฟตั้งแต่วัยกลางคนจะมีผลป้องกันภาวะความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์
J Alzheimers Dis. 2009; 16: 85-91.