ฤทธิ์ต้านมะเร็งของผักโขมหิน

การศึกษาฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์และฤทธิ์ต้านเอสโตรเจนของผักโขมหิน (Boerhaavia diffusa  ) ในเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF-7 โดยทดสอบกับสารสกัดเมทานอลของผักโขมหิน (BME) ความเข้มข้นตั้งแต่ 20 – 320 มคก./ล. พบว่าสารสกัดดังกล่าว มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ MCF-7 ได้ตั้งแต่ระดับปานกลางถึงระดับสูง และ BME สามารถเข้าแย่งจับกับตัวรับเอสโตรเจน (estrogen receptor) แบบแข่งขันกับสาร [3H]-estradiol และพบว่า BME ลดการแสดงออกของยีน pS2  ซึ่งบ่งบอกถึงฤทธิ์ต้านเอสโตรเจน นอกจากนี้ยังทำให้เซลล์ MCF-7 อยู่ในช่วง G0 - G1 ของวัฏจักรของเซลล์ (cell cycle) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ช่วงอื่นๆ ลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิด cell cycle arrest ที่ระยะ G0-G1 จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่าผักโขมหินน่าจะมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้องกับผลของเอสโตรเจน

J Ethnopharmacol 2009;126:221 – 5