ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส ต้านอนุมูลอิสระ และความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัดรากโลดทะนงแดง

การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดเฮกเซน, ไดคลอโรมีเทน, เอทิลอะซีเตท และ 95% เอทานอลจากรากโลดทะนงแดง (Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib) และส่วนสกัดที่แยกได้จากสารสกัด 95% เอทานอล ด้วยวิธี column chromatography ได้แก่ ส่วนสกัด 1-5 (Fr1-Fr5) พบว่าสารสกัด 95% เอทานอล มีฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส มีค่า IC50 เท่ากับ 5.38±0.76 มคก./มล. แต่ฤทธิ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกรดโคจิก (kojic acid) ซึ่งเป็นตัวควบคุมบวก ที่มีค่า IC50 เท่ากับ 0.047±0.01 มคก./มล. ขณะที่ส่วนสกัด Fr2 มีฤทธิ์ ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับส่วนสกัดอื่นๆ (IC50 15.9±1.13 มคก./มล.) เมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picryl hydrazyl (DPPH) พบว่าส่วนสกัด Fr3 และ Fr4 มีฤทธิ์ดีที่สุด ค่า IC50 เท่ากับ 1.65±0.09 และ 1.74±0.26 มคก./มล. ตามลำดับ ขณะที่วิตามินซี มีค่า IC50 1.48±0.19 มคก./มล. และการทดสอบในเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของหนู (L929) พบว่าสารสกัดเฮกเซน, ส่วนสกัด Fr5 และ Fr3 มีความเป็นพิษต่อเซลล์น้อยที่สุด (ค่า IC50 เท่ากับ 40.12±1.98, 35.26±4.43 และ 11.82±0.59 มคก./มล. ตามลำดับ) จากการศึกษาจะเห็นว่า สารสกัดและส่วนสกัดจากโลดทะนงแดงมีศักยภาพในการที่จะนำมาพัฒนาใช้เป็นสารทำให้ผิวขาวได้

Pharmacogn J. 2024;16(2):302-6.