การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินของลีลาวดี (Plumeria obtusa L.) ในเซลล์ macrophage ชนิด RAW 264.7 ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) พบว่าส่วนสกัดไดคลอโรมีเทน (dichloromethane fraction; DCM-F) ออกฤทธ์ยับยั้งการเกิด nitric oxide (NO) ได้ดีที่สุดโดยมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 28.2 มคก./มล. และที่ความเข้มข้น 100 มคก./มล. สามารถยับยั้ง nitric oxide synthase (iNOS) ได้อย่างสมบูรณ์ การทดสอบเพิ่มเติมในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะปอดอักเสบแบบเฉียบพลัน (acute lung injury; ALI) ด้วยสาร LPS โดยแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 7 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นหนูปกติ (negative control), กลุ่มที่ 2 จะได้รับ LPS ความเข้มข้น 4 มก./มล. ขนาด 10 มคล. โดยพ่นเข้าทางจมูก (positive control), กลุ่มที่ 3 ได้รับยาต้านอักเสบมาตรฐาน dexamethasone ขนาด 2 มก./กก., กลุ่มที่ 4 และ 5 ได้รับ DCM-F ขนาด 100 และ 200 มก./กก. ตามลำดับ โดยกลุ่มที่ 3-5 จะได้รับ LPS หลังจากให้สารทดสอบเข้าทางกระเพาะอาหารนาน 30 นาที พบว่า DCM-F ขนาด 200 มก./กก. สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของ iNOS, NO, tumor necrosis factor-α (TNF-α), และ interleukin 6 (IL-6) ได้ดีกว่ายา dexamethasone ในขนาดที่ทำการทดสอบ นอกจากนี้ยังทำให้การแสดงออกของ cyclooxygenase-2 (COX-2) และระดับ malondialdehyde (MDA) ลดลง รวมทั้งช่วยให้ catalase มีระดับใกล้เคียงกับค่าปกติ การวิเคราะห์เนื้อเยื่อพบว่ามีคะแนนการอักเสบ (scores of inflammation) จากการเหนี่ยวนำด้วย LPS ลดลง และการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่าสารออกฤทธิ์ที่พบใน DCM-F คือ protoplumericin A และ 13-O-coumaroyl plumeride จากผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า สารสกัดและสารสำคัญจากส่วนเหนือดินของลีลาวดีมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
Inflammopharmacology. 2023;31:859-75. doi: 10.1007/s10787-023-01144-w.