ฤทธิ์ต้านภาวะดื้ออินซูลินจากหญ้าหวาน

การทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะดื้ออินซูลินของสารสกัดน้ำจากหญ้าหวาน (Stevia rebaudiana) และสาร stevioside ในหนูเม้าส์ โดยทำการสุ่มแยกหนูเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นหนูปกติ ได้รับน้ำเกลือ (saline) กลุ่มที่ 2 หนูเป็นเบาหวาน ได้รับน้ำเกลือ กลุ่มที่ 3 หนูเป็นเบาหวาน ได้รับยาลดน้ำตาลมาตรฐาน metformin ขนาด 200 มก./กก. กลุ่มที่ 4 และ 5 หนูเป็นเบาหวาน ได้รับสารสกัดน้ำจากหญ้าหวานขนาด 200 และ 500 มก./กก. ตามลำดับ และกลุ่มที่ 6 หนูเป็นเบาหวาน ได้รับสาร stevioside 40 มก./กก. ซึ่งหนูจะได้รับสารทดสอบทั้งหมดโดยการกรอกเข้าทางกระเพาะอาหารวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลานาน 35 วัน ติดตามผลโดยวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting blood glucose) สัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งทำการทดสอบ oral glucose tolerance test (OGTT) และ insulin tolerance test (ITT) หลังสิ้นสุดการทดลอง ทำการวิเคราะห์ผลเลือด วัดระดับ triglyceride (TG), total cholesterol (TC), insulin, และ antioxidant enzymes รวมทั้งวิเคราะห์เนื้อเยื่อในส่วนของกล้ามเนื้อลายด้วยวิธี Western blots เพื่อดูผลของสารทดสอบทั้ง 2 ชนิด ต่อการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับ insulin signaling, mitochondrial function, และ oxidative stress จากการวิเคราะห์ผลเลือดพบว่า ในหนูที่เป็นเบาหวาน ทั้งสารสกัดน้ำและสาร stevioside สามารถทำให้ระดับ fasting blood glucose, OGTT, ITT, TG, TC, และ insulin ลดลง รวมทั้งทำให้ระดับ superoxide dismutase (SOD) และ glutathione peroxidase (GPx) เพิ่มขึ้น การวิเคราะห์เนื้อเยื่อพบว่า เส้นใยกล้ามเนื้อ (muscle fiber) ในหนูที่ได้รับสารสกัดน้ำขนาด 500 มก./กก. และได้รับสาร stevioside มีขนาดเพิ่มขึ้น ในกล้ามเนื้อลายของหนูที่ได้รับสารสกัดน้ำและสาร stevioside มีการกระตุ้น insulin signaling โดยพบว่าการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับ insulin receptor substrate, Akt, และ glucose transporter type 4 เพิ่มขึ้น และการได้รับสารสกัดน้ำขนาด 500 มก./กก. ยังทำให้การแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับ AMP-activated protein kinase-α, sirtuin-1, และ peroxisome proliferator-activated receptor-γ coactivator-1α เพิ่มขึ้น ในขณะที่สาร stevioside ทำให้การเกิดภาวะ oxidative stress ลดลง โดยทำให้การแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับ 4-hydroxynonenal, heme oxygenase-1, SOD, และ GPx ลดลง นอกจากนี้สกัดน้ำขนาด 500 มก./กก. และสาร stevioside ยังยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิด apoptosis ของเซลล์กล้ามเนื้อลายด้วย จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สารสกัดน้ำจากหญ้าหวานและสาร stevioside ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบในหญ้าหวาน มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด รวมทั้งช่วยยับยั้งภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยมีผลควบคุมการทำงานของ mitochondrial, ยับยั้งการเกิดภาวะ oxidative stress และทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อมีขนาดเพิ่มขึ้น

BMC Complement Med Ther. 2023;23(1):264. doi: 10.1186/s12906-023-04033-5.