ผลของเทียนเกล็ดหอยต่อจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในอุจจาระ

การศึกษาทางคลินิกจำนวน 2 การทดลอง ซึ่งเป็นการทดลองแบบมีการสุ่ม มียาหลอกเป็นกลุ่มควบคุม และปกปิดสองทาง (randomised, placebo-controlled, double-blinded trials) เพื่อเปรียบเทียบผลการใช้เทียนเกล็ดหอย (Plantago ovata) กับยาหลอก (maltodextrin) ต่อจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในอุจจาระ (microbiota) โดยใช้เวลา 7 วัน ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 8 คน และผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกจำนวน 16 คน (การทดลองที่ 1 อาสาสมัครสุขภาพดีจะได้รับ maltodextrin ขนาด 14 ก., ยา Metamucil ขนาด 14 ก. (มีเทียนเกล็ดหอย 7 ก.), หรือส่วนผสมระหว่าง maltodextrin 7 ก. และยา Metamucil 7 ก. (มีเทียนเกล็ดหอย 3.5 ก.) วันละ 3 ครั้ง ในขณะที่การทดลองที่ 2 ผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังจะได้รับ maltodextrin หรือเทียนเกล็ดหอยขนาด 21 ก./วัน) ทำการวิเคระห์การเคลื่อนตัวของลำไส้ (gastrointestnal transit), ปริมาณน้ำในอุจจาระ (faecal water content), ปริมาณกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acid; SCFA), และชนิดของแบคทีเรียในอุจจาระ (stool microbiota composition) การศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีพบว่า เทียนเกล็ดหอยทำให้แบคทีเรียชนิด Veillonella เพิ่มขึ้น และทำให้แบคทีเรียชนิด Subdoligranulum ลดลง ส่วนการศึกษาในผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังพบว่า เทียนเกล็ดหอยทำให้แบคทีเรียชนิด Lachnospira, Faecalibacterium, Phascolarctobacterium, Veillonella, Sutterella เพิ่มขึ้น และทำให้แบคทีเรียชนิด Coriobacteria, Christensenella ลดลง ส่งผลให้ระดับของ acetate, propionate และ butyrate ในอุจจาระเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคาดว่าการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในอุจจาระสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนตัวของลำไส้, ปริมาณ SCFA, และปริมาณน้ำในอุจจาระจากการได้รับเทียนเกล็ดหอย ทำให้สามารถสรุปได้ว่า นอกจากกลไกการออกฤทธิ์เป็นยาระบายโดยการเพิ่มกากใยให้กับอุจจาระแล้ว เทียนเกล็ดหอยยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอุจจาระซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในอุจจาระด้วย

Int J Mol Sci. 2019;20(2). pii: E433.