การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินของสารสกัด 70% เอทานอลจากข้าวไทยสายพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ สีนิล ทับทิมล้านนา หอมนิล ไรซ์เบอร์รี่ แดงสังข์หยด และก่ำดอยมูเซอ เพื่อใช้ในสูตรสำหรับรักษาเส้นผม โดยทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH และ ferric ions reducing antioxidant power (FRAP) ผลพบว่าสารสกัดข้าวก่ำดอยมูเซอและข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH ส่วนการทดสอบด้วยวิธี FRAP พบว่าสารสกัดข้าวหอมนิลและข้าวก่ำดอยมูเซอ จะมีฤทธิ์ดีที่สุด สำหรับฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานิน ทำโดยศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) และฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์เมลาโนไซท์ (melanocyte) ที่สร้างเม็ดสีเมลานินในเซลล์เพาะเลี้ยง B16F10 พบว่าสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่จะมีฤทธิ์ในการกระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนสดีที่สุด (ค่าร้อยละของการกระตุ้น (% stimulation) เท่ากับ 91.8±0.10 %) ขณะที่สารสกัดข้าวสีนิลจะมีฤทธิ์ต่ำสุด (32.59± 1.17%) ส่วนฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์เมลาโนไซท์ พบว่าสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่ความเข้มข้น 500 มคก./มล. มีฤทธิ์ดีที่สุด โดยมีค่า proliferation index (P.I.) เท่ากับ 1.3±0.02 ขณะที่สารสกัดข้าวก่ำดอยมูเซอไม่มีผล สรุปได้ว่าผลจากการที่สารสกัดจากข้าวไทยพันธุ์ต่างๆ มีฤทธิ์ดีในการต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานิน ทำให้เป็นการเพิ่มมูลค่าของข้าวไทยในการนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการเตรียมสูตรรักษาเส้นผมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้
TJPS 2016;40(Supplement Issue):92-5.