ฤทธิ์ต้านภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติของดอกทับทิม

ศึกษาผลของการรับประทานแคปซูลดอกทับทิมต่ออาการผิดปกติของรอบเดือนในอาสาสมัครเพศหญิง 76 คน (อายุระหว่าง 20-49 ปี) ซึ่งระบุว่ามีภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม (กลุ่มละ 38 คน) กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานยา tranexamic acid ขนาด 500 มก. และกลุ่มที่ 2 ให้รับประทานแคปซูลดอกทับทิมแห้งขนาด 500 มก. โดยให้รับประทานยาทุกๆ 6 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5 วัน นับจากวันที่มีประจำเดือนวันแรก และทำเช่นนี้ 3 รอบของการมีประจำเดือน (3 cycles) ประเมินการสูญเสียเลือดของผู้ป่วยด้วยเทคนิค The pictorial blood loss assessment chart (PBAC) และประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพด้วยแบบสอบถาม Menorrhagia Questionnaire (MQ) และ 36-Item Short Form Health Survey (SF-36) Questionnaire ผลจากการศึกษาพบว่า ค่า PBAC ของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มลดลงหลังจากการทดสอบ 3 รอบของการมีประจำเดือน โดยมีค่าเฉลี่ยลดลงจาก 304.92 (±176.17) และ 304.44 (±192.72) เป็น 164.60 (±100.24) และ 143.13 (±96.07) ในกลุ่มที่รับประทานแคปซูลดอกทับทิมแห้งและยา tranexamic acid ตามลำดับ และนอกจากนี้ยังพบว่าค่าความเข้มข้นเฉลี่ยของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในทั้งสองกลุ่ม และไม่พบค่าความแตกต่างระหว่างสองกลุ่ม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การรับประทานแคปซูลดอกทับทิมแห้งมีผลช่วยลดภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติได้ อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางรายระบุถึงอาการข้างเคียงในการใช้ว่า อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้และเจ็บเต้านมได้

Med J Islam Repub Iran 2015; 29: 199