ฤทธิ์ยับยั้งความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์เพศผู้ของสารเคอร์คูมินจากขมิ้น

ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์เพศผู้ของสารเคอร์คูมิน โดยทำการทดสอบในหนูเม้าส์เพศผู้จำนวน 32 ตัว แบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 8 ตัว) กลุ่มที่ 1 ฉีดน้ำกลั่นเข้าทางช่องท้องวันละ 1 มล. นาน 7 วัน (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ฉีดยา dexamethasone เข้าทางช่องท้องเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ขนาดวันละ 7 มก./กก. นาน 7 วัน กลุ่มที่ 3 ผสมสารเคอร์คูมินลงในน้ำดื่มแล้วป้อนให้แก่หนูขนาดวันละ 200 มก./กก. นาน 10 วัน และกลุ่มที่ 4 ฉีดยา dexamethasone เข้าทางช่องท้องขนาดวันละ 7 มก./กก. นาน 7 วัน หลังจากนั้นจะได้รับการป้อนน้ำดื่มที่ผสมสารเคอร์คูมินขนาดวันละ 200 มก./กก. นาน 10 วัน จากนั้น ในวันที่ 11 ของการทดลอง ทำการชำแหละซากหนูทุกกลุ่มและแยกเก็บอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพื่อชั่งน้ำหนัก นับจำนวนสเปิร์ม วิเคราะห์การสร้างสเปิร์มด้วยวิธี Johnsen’s scoring method วิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพด้วยเทคนิคทางจุลพยาธิวิทยา (histopathology) และวิเคราะห์การแสดงออกของโปรตีน Bcl – 2 ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ด้วยวิธี immunohistochemistry ผลจากการทดลองพบว่า การป้อนสารสกัดเคอร์คูมินให้แก่หนูเม้าส์ สามารถยับยั้งความเสียหายในระบบสืบพันธุ์ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยยา dexamethasone ได้ โดยหนูกลุ่มที่ป้อนสารสกัดเคอร์คูมินร่วมกับการฉีดยา dexamethasone มีน้ำหนักของอวัยวะในระบสืบพันธุ์ จำนวนสเปิร์ม และการแสดงออกของโปรตีน Bcl – 2 มากกว่าหนูที่ถูกฉีดยา dexamethasone เพียงอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สารเคอร์คูมินจากขมิ้นมีฤทธิ์ยับยั้งความเป็นพิษในระบบสืบพันธุ์เพศผู้ได้

Pharm Biol. 2013; 51(2): 206-12