ฤทธิ์ปกป้องตับของน้ำลูกยอ

การศึกษาฤทธิ์ปกป้องความเป็นพิษต่อตับจากการดื่มสุราเป็นระยะเวลานานของน้ำลูกยอ โดยแบ่งหนูเม้าส์ออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ป้อนด้วยน้ำเปล่า กลุ่มที่ 2 ป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ร่วมกับน้ำเปล่า กลุ่มที่ 3 - 5 ป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ร่วมกับน้ำลูกยอขนาด 5, 10 และ 15 มล./กก. น้ำหนักตัว ตามลำดับ ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าน้ำลูกยอช่วยลดระดับเอ็นไซม์ aspartate aminotransferase, alanine aminotransferase ลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และไขมันสะสมในตับ และเพิ่มการขับไขมันออกทางอุจจาระ นอกจากน้ำลูกยอจะมีผลลดการสร้างไขมัน (lipogenesis) แล้วยังช่วยเพิ่มการสลายกรดไขมันด้วยกระบวนการ β-oxidation ในเซลล์ตับของหนูที่ได้รับแอลกอฮอล์ด้วย อีกทั้งเร่งการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากเซลล์ โดยเพิ่มการทำงานของเอ็นไซม์ alcohol dehydrogenase และ acetaldehyde dehydrogenase ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมตาบอลิสมแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มฤทธิ์ต้านอนมูลอิสระของตับ เมื่อทดสอบด้วยวิธี trolox equivalent antioxidant capacity (TEAC) เพิ่มระดับกลูต้าไธโอน และลดปริมาณ thiobarbituric acid-reactive substances รวมถึงลดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ Toll-like receptor 2 (TLR2/4), Mitogen-activated protein kinase (p38), extracellular signal-regulated kinase ½ (ERK1/2), nuclear factor kappa beta p65 (NFκβ P65), inducible nitric oxide synthase (iNOS), cyclooxygenase-2 (COX-2), tumor necrosing factor-alpha (TNF-α) และ interleukin-1β (IL-1β) การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าน้ำลูกยอช่วยปกป้องตับจากการถูกทำลายด้วยแอลกอฮอล์ โดยเกี่ยวข้องกับการปรับสมดุลไขมัน (lipid homeostatis) ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การเมตาบอลิสมของแอลกอฮอล์ และฤทธิ์ต้านการอักเสบ

J Agric Food Chem 2013;61:11016-24