ฤทธิ์ยับยั้งลำไส้อักเสบของทับทิม

ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งลำไส้อักเสบทั้งในภาวะเฉียบพลันและเรื้อรังของสาร ellagic acid จากทับทิม ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบด้วยการป้อน dextran sulphate sodium (DSS) ทั้งระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยการศึกษาในระยะเฉียบพลัน ใช้หนูเม้าส์สายพันธุ์ Balb/C 3 กลุ่ม (กลุ่มละ 7 - 10 ตัว) กลุ่มที่ 1 เลี้ยงด้วยอาหารและน้ำปกติ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 เลี้ยงด้วยอาหารปกติและน้ำที่มี DSS ผสมอยู่ 5% กลุ่มที่ 3 เลี้ยงด้วยอาหารที่มีสาร ellagic acid ผสมอยู่ 2% โดยน้ำหนัก (w/w) และน้ำที่มี DSS ผสมอยู่ 5% ทำการเลี้ยงนาน 7 วัน จากนั้นทำการชำแหละซากเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของลำไส้ด้วยเทคนิคจุลกายวิภาคศาสตร์ วิเคราะห์การแทรกซึมของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ในลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงถึงการเกิดภาวะลำไส้อักเสบ ด้วยการวัดการทำงานของเอนไซม์ myeloperoxidase (MPO) และวิเคราะห์การแสดงออกของยีนและโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบด้วยวิธี transcription-polymerase chain reaction (RT-PCR), western blot assay และ enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) ส่วนการศึกษาแบบเรื้อรัง ใช้หนูเม้าส์สายพันธุ์ C57BL/6 3 กลุ่ม (กลุ่มละ 7 - 10 ตัว) กลุ่มที่ 1 เลี้ยงด้วยอาหารและน้ำปกติ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 เลี้ยงด้วยอาหารปกติและน้ำที่มี DSS ผสมอยู่ 1% ใน 3 สัปดาห์แรก และเว้นการให้ DDS ไป 1 สัปดาห์ จากนั้นผสม DSS 2% ลงในน้ำดื่ม เลี้ยงต่อไปอีก 3 สัปดาห์ และในสัปดาห์สุดท้าย เลี้ยงด้วยน้ำปกติ (ระยะเวลาทั้งหมด 8 สัปดาห์) และในกลุ่มที่ 3 เลี้ยงด้วยอาหารและน้ำเช่นเดียวกับหนูในกลุ่มที่ 2 แต่ตลอดระยะเวลาการเลี้ยงใช้อาหารที่มีสาร ellagic acid ผสมอยู่ 0.5% โดยน้ำหนัก เมื่อเลี้ยงครบระยะเวลาการทดลอง ทำการชำแหละซากและเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับการศึกษาในระยะเฉียบพลัน ผลการทดลองพบว่า ในระยะเฉียบพลันสาร ellagic acid มีผลยับยั้งอาการอักเสบของลำไส้ ลดการทำงานของเอนไซม์ MPO และลดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้แก่ interleukin-6, interleukin-1β, tumor necrosing factor-α, และ interferon-γ ส่วนผลการทดลองในระยะเรื้อรังพบว่า ellagic acid มีผลยับยั้งอาการอักเสบของลำไส้ ลดการแสดงออกของเอนไซม์ cylooxygenase-2 และ nitric oxide synthase ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้เมื่อเกิดภาวะอักเสบขึ้น และลดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบได้แก่ p38 mitogen-activated protein kinases, nuclear factor kappa-beta, และ signal transducer and activator of transcription 3 อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ DSS เพียงอย่างเดียว ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สาร ellagic acid จากทับทิมมีฤทธิ์ยับยั้งลำไส้อักเสบทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง

J Ethnopharmacol 2013; 150(3): 925-34