ฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้าของสาร mitragynine จากใบกระท่อมในหนูเม้าส์

การศึกษาโดยทำให้หนูเม้าส์เกิดความซึมเศร้าด้วยวิธี Forced Swimming Test (FST) และ Tail Suspension Test (TST) ในหนูเม้าส์ทั้งหมด 7 กลุ่มๆ ละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 - 4 เป็นกลุ่มที่ได้รับสาร mitragynine จากใบกระท่อมขนาด 5, 10 และ 30 มก./กก. ฉีดเข้าทางช่องท้อง 30 นาที ก่อนเริ่มการทดลอง ตามลำดับ กลุ่มที่ 5 - 7 เป็นกลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้า fluoxetine 20 มก./กก., amitriptyline 10 มก./กก. ฉีดเข้าทางช่องท้อง 60 นาที ก่อนเริ่มการทดลอง และ amphetamine 1 มก./กก. ฉีดเข้าทางช่องท้อง 15 นาที ก่อนเริ่มการทดลอง ตามลำดับ พบว่าการศึกษาด้วยวิธี Forced Swimming Test (FST) สาร mitragynine ขนาด 10 และ 30 มก./กก. สามารถลดระยะเวลาที่เกิดอาการซึมเศร้าได้ 33% และ 48% ตามลำดับ ในขณะที่ยาแผนปัจจุบัน fluoxetine และ amitriptyline ลดระยะเวลาได้ 57% และ 76% ตามลำดับ และการศึกษาด้วยวิธี Tail Suspension Test (TST) สาร mitragynine ขนาด 10 และ 30 มก./กก. สามารถลดระยะเวลาที่เกิดอาการซึมเศร้าได้ 47% และ 58% ตามลำดับ ในขณะที่ยาแผนปัจจุบัน fluoxetine และ amitriptyline ลดระยะเวลาได้ 75% และ 76% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าสาร mitragynine ขนาด 10 และ 30 มก./กก. มีผลต่อต่อมใต้สมองทำให้ต่อมหมวกไตลดการหลั่งฮอร์โมน corticosterone จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า สาร mitragynine ขนาด 10 และ 30 มก./กก. มีผลลดอาการซึมเศร้าในหนูเม้าส์ได้ และยังมีผลลดการหลั่งฮอร์โมน corticosterone จากต่อมหมวกไตได้ด้วยซึ่งหากมีการศึกษาทางคลินิกต่อไปสาร mitragynine อาจจะนำมาใช้เป็นยาในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้

Phytomedicine 2011;18:402-7.