กลูโคแมนแนนจากบุกช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

การศึกษาในหนูแรท 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ป้อนอาหารไขมันปกติที่ปราศจากไฟเบอร์ กลุ่มที่ 2 ป้อนอาหารไขมันสูงที่ปราศจากไฟเบอร์ กลุ่มที่ 3 ป้อนอาหารไขมันสูงที่ปราศจากไฟเบอร์ร่วมกับกลูโคแมนแนนจากบุก (KGM) ขนาด 5% โดยน้ำหนัก และกลุ่มที่ 4 ป้อนอาหารไขมันสูงที่ปราศจากไฟเบอร์ร่วมกับสาร inulin ขนาด 5% โดยน้ำหนัก ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ แล้วทำการวัดค่าดัชนีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การทำงานของเอนไซม์ β-glucuronidase และ mucinase รวมถึงปริมาณกรดน้ำดีในอุจจาระ และปัจจัยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ ปริมาณจุลชีพในอุจจาระ และปริมาณกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids: SCFAs) ในลำไส้ ผลการศึกษาพบว่าการป้อนอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว มีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ β-glucuronidase และ mucinase เพิ่มปริมาณกรดน้ำดีในอุจจาระของหนูมากขึ้น รวมทั้งลดจำนวน SCFAs ในลำไส้ใหญ่ลง เมื่อเทียบกับหนูที่ป้อนอาหารไขมันปกติ การป้อน 5% KGM ร่วมกับอาหารไขมันสูง ช่วยลดการทำงานของเอนไซม์ β-glucuronidase และ mucinase อีกทั้งลดปริมาณของ lithocholic acid (สารทุติยภูมิของกรดน้ำดี) ที่พบในอุจจาระ ซึ่งแสดงว่า KGM จะมีผลต่อการขับออกของกรดน้ำดีเช่นกัน แต่การแสดงออกอยู่ในรูปของสารทุติยภูมิของกรดน้ำดีแทน นอกจากนี้ KGM ยังช่วยเพิ่มจำนวนจุลิน ทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ เช่น bifidobacteria และ lactobacilli รวมทั้งเพิ่มจำนวน SCFAs ในลำไส้เมื่อเทียบกับการป้อนอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว จากผลการทดลองจะเห็นได้ว่าการรับประทานกลูโคแมนแนนจากบุกช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จากการรับประทานอาหารไขมันสูงได้

J Agric Food Chem 2011; 59: 989-94