ผลของขิงต่อเอ็นไซม์ที่ใช้ต้านอนุมูลอิสระเพื่อปกป้องการทำลายระบบประสาทในหนูที่เป็นเบาหวาน

การศึกษาผลของสารสกัดด้วยเอทานอลจากขิง ต่อตัวบ่งชี้ที่แสดงถึงการเกิดสภาวะเครียดจากออกซิเดชั่น (oxidative stress)ในไมโทคอนเดรียของ cerebral cortex, cerebellum, hippocampus และ hypothalamus ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจะเหนี่ยวนำให้เกิดสภาวะออกซิเดชั่น ทำให้เซลล์ประสาทของหนูที่เป็นโรคเบาหวานถูกทำลายมากขึ้น โดยเอนไซม์ที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้แก่ superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidase (GPx), glutathione reductase (GR), และปริมาณสาร reduced glutathione (GSH) ลดลง แต่มีระดับ malondialdehyde (MDA; แสดงถึงการเกิดสภาวะออกซิเดชั่น) เพิ่มขึ้น ในขณะที่สารสกัดด้วยเอทานอลจากขิงที่ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักหนู สามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยสามารถเพิ่มระดับเอนไซม์ SOD, CAT, GPx, GR และปริมาณ GSH แต่ลดระดับ MDA ในไมโทคอนเดรียของ cerebral cortex, cerebellum, hippocampus และ hypothalamus ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin กลับสู่ระดับปกติ ดังนั้นสารสกัดด้วยเอทานอลจากขิงอาจใช้รักษาเพื่อป้องกันสภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานได้

Food Chem Toxicol 2011;49:893-7