การทดสอบให้ผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้แบบตื้น (partial-thickness burn) 75 คน แบ่งให้ทาขี้ผึ้งที่เตรียมจากสารสกัดจากใบบัวบก (Centella asiatica L.) หรือยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (silver sulfadiazine) ทาบริเวณแผลวันละ 1 ครั้ง พบว่าขี้ผึ้งจากใบบัวบกให้ผลการรักษาแผลไฟไหม้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน เมื่อประเมินจากความยืดหยุ่นของแผล การสร้างหลอดเลือดฝอย เม็ดสีบริเวณผิว และการประเมินด้วยสายตา นอกจากนี้อัตราการสร้างเยื่อบุผิวบริเวณแผล (re-epithelialization) ของครีมบัวบกเกิดขึ้นเร็วกว่ากลุ่มของยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงทำให้แผลหายเร็วกว่า โดยค่าเฉลี่ยของวันที่แผลหายสำหรับขี้ผึ้งบัวบก คือ 14.67±1.78 วัน ในขณะที่ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน สามารถทำให้แผลหายสนิทในวันที่ 21.53±1.65 การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าขี้ผึ้งใบบัวบกสามารถกระตุ้นการสร้างเยื่อบุผิว และรักษาแผลไฟไหม้ได้เหนือกว่าการใช้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน
Medicine 2017;96:e6168