การศึกษาผลของการให้สาร curcumin ซึ่งเป็นสารสำคัญที่แยกได้จากส่วนเหง้าของขมิ้นชัน (Curcuma longa ) ร่วมกับยาต้านมะเร็งอ๊อกซาลิพลาติน (oxaliplatin) ในหนูเม้าส์ที่ถูกปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ [subcutaneously xenografted LoVo human colorectal cancer cells in immunodeficient (nu/nu) mice] พบว่าการให้สาร curcumin ขนาด 50 มก./กก. ร่วมกับยาอ๊อกซาลิพลาติน ขนาด 25 มก./กก. โดยการฉีดเข้าทางช่องท้อง เป็นเวลา 22 วัน สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหนูได้อย่างชัดเจน และให้ผลดีกว่าการให้สาร curcumin หรือยาอ๊อกซาลิพลาตินเพียงอย่างเดียว โดยทำให้เซลล์มะเร็งเกิดการตายแบบ apoptosis เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และหยุดการแบ่งตัวในระยะ S และ G2/M การศึกษาเพิ่มเติมพบว่าเซลล์มะเร็งมีการตายแบบ apoptosis เพิ่มขึ้น การแสดงออกของยีน Bax, caspase-3 และ poly (ADP-ribose) polymerase (PARP) เพิ่มขึ้น ในขณะที่การแสดงออกของยีน Bcl-2, survivin, HSP70, pro-caspase-3, และ pro-PARP ลดลง ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวชี้วัดการเกิด apoptosis ของเซลล์ ทำให้สามารถสรุปได้ว่า การให้สาร curcumin ร่วมกับยาอ๊อกซาลิพลาติน มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์คือการเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบ apoptosis
*หมายเหตุ Bax, caspase-3 และ PARP มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการตายของเซลล์แบบ apoptosis เมื่อมีการแสดงออกหรือมีปริมาณเพิ่มขึ้น จะทำให้การตายของเซลล์เพิ่มขึ้น ส่วน Bcl-2, survivin, HSP70, pro-caspase-3, และ pro-PARP ก็มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการตายแบบ apoptosis เช่นกัน แต่จะทำงานในทางตรงกันข้าม นั่นคือเป็นส่วนที่ทำให้เซลล์รอดชีวิต ยับยั้งการตายของเซลล์ ดังนั้นเมื่อมีการแสดงออกหรือมีปริมาณลดลง เซลล์จึงเกิดการตายเพิ่มขึ้น
Phytother Res 2015;29:357-65.