ฤทธิ์บรรเทาปวดและต้านการอักเสบของใบทองพันชั่ง

การทดสอบฤทธิ์บรรเทาปวดและฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดมาตรฐานจากใบทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus (L.) Kurz) ซึ่งมีสาร rhinacanthin-C (Rn-C) เป็นส่วนประกอบอยู่ไม่น้อยกว่า 70% โดยน้ำหนัก เปรียบเทียบกับสาร Rn-C เพียงอย่างเดียว ในหนูแรท โดยแบ่งเป็นการทดสอบฤทธิ์บรรเทาปวด ซึ่งทำการทดสอบด้วย acetic acid-induced writhing test, a hot-plate test และ formalin test โดยให้หนูกินสารทดสอบในขนาด 20, 40 และ 80 มก./กก. และการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งทำการทดสอบด้วยการเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมด้วยการฉีดสาร carrageenan และการฝังก้อนสำลี โดยให้หนูกินสารทดสอบในขนาด 80, 160 และ 320 มก./กก. พบว่าทั้งสารมาตรฐานและสาร Rn-C มีฤทธิ์บรรเทาปวดใน acetic acid-induced writhing test และ formalin test โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ แต่ไม่ได้ผลใน hot plate test เช่นเดียวกับการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งพบว่าทั้งสารมาตรฐานและสาร Rn-C มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยสามารถยับยั้งการบวมจากการเหนี่ยวนำด้วยสาร carrageenan และยับยั้งการสร้าง granuloma จากการเหนี่ยวนำด้วยการฝังก้อนสำลีได้ โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ ซึ่งทั้งสารมาตรฐาน และสาร Rn-C มีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสกัดมาตรฐานจากใบทองพันชั่ง และสาร rhinacanthin-C (Rn-C) มีฤทธิ์บรรเทาปวดและฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง

Songklanakarin J Sci Technol 2014;36(3):325-31.