ฤทธิ์ต้านการสะสมไขมันของชุมเห็ดไทย

การศึกษาฤทธิ์ต้านการสะสมไขมันของชุมเห็ดไทย โดยทำการศึกษาในเซลล์ไขมัน 3T3-L1 ที่เลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ที่มีสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดชุมเห็ดไทยประกอบอยู่ปริมาณ 0.001-1.0 มค.ก./มล. เมื่อเลี้ยงครบ 8 วัน ทำการวิเคราะห์หาค่าไตรกลีเซอร์ไรด์ในเซลล์ด้วยชุดทดสอบ Triglyceride E test WAKO และการศึกษาในสัตว์ทดลอง (in vivo ) โดยเลี้ยงหนูแรทด้วยอาหารที่มีไขมันสูงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นแบ่งหนูออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1-3 ป้อนสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดชุมเห็ดไทยขนาด 100 200 และ 300 มก./กก./วัน ตามลำดับ กลุ่มที่ 4 ป้อนยา pioglitazone (ยาลดไขมัน) ขนาด 20 มก./กก./วัน กลุ่มที่ 5 และ 6 ป้อนด้วยอาหารธรรมดาและอาหารที่มีไขมันสูงตามลำดับ (กลุ่มควบคุม) เมื่อเลี้ยงครบ 8 สัปดาห์ ทำการชั่งน้ำหนักตัวหนูทุกกลุ่ม เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ค่าชีวเคมีในเลือด (biochemical parameter) ชำแหละซากแยกเนื้อเยื่อไขมันเพื่อตรวจวิเคราะห์ลักษณะทางพยาธิวิทยาและการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้อง ผลการทดลองพบว่าเซลล์ไขมัน 3T3-L1 ที่เลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ที่มีสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดชุมเห็ดไทยประกอบอยู่มี่ค่าไตรกลีเซอไรด์ลดลงเมื่อเทียบกับเซลล์ไขมันที่เลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ธรรมดาคิดเป็น 39.4% และผลจากการป้อนสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดชุมเห็ดไทยให้แก่หนูแรทพบว่า น้ำหนักของหนูลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด ผลการวิเคราะห์ค่าชีวเคมีในเลือดพบว่าหนูแรทกลุ่มที่ถูกป้อนสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดชุมเห็ดไทยมีค่าไขมันในเลือด (free fatty acid) ไตรกลีเซอร์ไรด์ คอเลสเตอรอล และLDL-C (low density cholesterol) ลดลง และมีค่า HDL-C (high density cholesterol) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่กินอาหารที่มีไขมันสูง (กลุ่มที่ 6) ผลการตรวจวิเคราะห์ลักษณะทางพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อไขมันพบว่า ค่าเฉลี่ยของขนาด epididymal whit adipose tissue ของหนูแรทกลุ่มที่ถูกป้อนสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดชุมเห็ดไทย มีค่าต่ำกว่าหนูแรทกลุ่มที่กินอาหารที่มีไขมันสูง (กลุ่มที่ 6) และนอกจากนี้การป้อนหนูด้วยสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดชุมเห็ดไทยยังมีผลเพิ่มการการเกิดปฏิกิริยา phosphorylation ของ AMP-activated protein kinase (AMPK) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการยับยั้งการสร้างไขมัน เพิ่มการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมัน (acetyl CoA carboxylase และ carnitine palmitoyl transferase-1) และลดการแสดงออกของปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ไขมัน (sterol regulatory element-binding protein-1 และ fatty acid synthase protein) ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าชุมเห็ดไทยมีฤทธิ์ในการต้านการสะสมของไขมัน

Food Chem. 2013; 136(2): 1086-94