ผลของการบริโภคอินทผาลัมต่อน้ำตาล ไขมัน และสารอนุมูลอิสระในเลือด

การทดลองแบบ Pilot study ให้อาสาสมัครสุขภาพดี ไม่สูบบุหรี่จำนวน 10 คน อายุ 36 ± 9 ปี รับประทานอินทผาลัมสองสายพันธุ์เปรียบเทียบกัน โดยเริ่มรับประทานสายพันธุ์ Medjool วันละ 100 กรัม นาน 4 สัปดาห์ แล้วทิ้งช่วงให้ล้างยา 4 สัปดาห์ ก่อนให้รับประทานสายพันธุ์ Hallawi ต่ออีก 4 สัปดาห์ เมื่อจบทดลองพบว่าการบริโภคอินทผาลัมทั้งสองสายพันธุ์ไม่มีผลต่อดัชนีมวลกาย ปริมาณคอเลสเตอรอล ทั้ง VLDL, LDL และ HDL ปริมาณน้ำตาลในเลือด และลดปริมาณ triacylglycerol ลง 8 และ 15% (สายพันธุ์ Medjool และ Hallawi ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงที่รับประทานสายพันธุ์ Hallawi ภาวะออกซิเดชั่นในเลือดลดลง 33% การออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) ลดลง 12% และเอนไซม์ paraoxonase 1 เพิ่มขึ้น 8% ซึ่งเมื่อวิเคราะห์สารสำคัญของทั้งสองสายพันธุ์ พบว่าทั้งสองมีปริมาณสารฟีนอลลิก น้ำตาลและสารต้านอนุมูลอิสระใกล้เคียงกัน แต่ในสายพันธุ์ Hallawi จะพบสาร catechin ซึ่งไม่พบในสายพันธุ์ Medjool จึงกล่าวได้ว่าการบริโภคอินทผาลัมช่วยลดปริมาณ triacylglycerol และต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย โดยไม่เพิ่มปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือดที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดแข็งตัว

J Agric Food Chem 2009; 57: 8010-7