ผลของอลูมินัมและสารโพลีฟีนอลในชาเขียวต่อปริมาณธาตุเหล็กและค่าโลหิตวิทยาในหนู

ศึกษาในหนูขาวเพศผู้ 42 ตัว ที่มีน้ำหนักตัวระหว่าง 125 - 135 ก. แบ่งหนูออกเป็น 6 กลุ่ม ทุกกลุ่มจะได้รับอาหารที่เป็นสูตรที่ใช้ในการทดลอง กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม ได้รับอาหารร่วมกับน้ำสะอาด กลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารร่วมกับอลูมินัม 100 มก./อาหาร 1 กก. กลุ่มที่ 3 ได้รับอาหารร่วมกับชาเขียวต้มที่เตรียมจากชาเขียว 100 ก. ต้มกับน้ำ 1 ลิตร กลุ่มที่ 4, 5 และ 6 ได้รับอาหารร่วมกับอลูมินัม 100 มก./อาหาร 1 กก. ร่วมกับชาต้มในขนาด 25 ก./น้ำ 1 ลิตร 50 ก./น้ำ 1 ลิตร และ 100 ก./น้ำ 1 ลิตร ตามลำดับ ทำการศึกษานาน 8 สัปดาห์ ในกลุ่มหนูที่ได้รับชาต้มทุกกลุ่มจะป้อนน้ำให้หนู 7 มล. ก่อนที่จะให้ชาต้มเพื่อป้องกันการขาดน้ำ เมื่อสิ้นสุดการทดลองพบว่า ความเข้มข้นของสารอลูมินัมในใบชาเขียว และชาเขียวต้มเท่ากับ 583 มก./กก. และ 219 มก./ลิตร ค่าเฉลี่ยของชาเขียวต้มที่ป้อนให้กับหนูขาวเฉลี่ยวันละ 17 มล. อาหารที่หนูกินอยู่ในช่วง 14 - 16 ก./วัน ซึ่งกลุ่มที่ได้รับชาเขียวต้มเพียงอย่างเดียวมีผลทำให้การกินอาหารของหนูลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความแตกต่างของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม ปริมาณของอลูมินัมในเลือดของกลุ่มที่ได้รับชาเขียวทุกกลุ่มเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยหากคิดเป็นเปอร์เซนต์ของปริมาณอลูมินัมในเลือดที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มที่ 2 – กลุ่มที่ 6 เท่ากับ 61.5, 126, 161.5, 215.4 และ 341.5% ตามลำดับ นอกจากนี้หนูในกลุ่มที่ 2 – กลุ่มที่ 6 ปริมาณการสะสมของธาตุเหล็กในอวัยวะต่างๆ ลดลงด้วย โดยเฉพาะที่ตับและไต ซึ่งเปอร์เซ็นต์การลดลงของธาตุเหล็กอยู่ระหว่าง 72 และ 32% ในตับ 65.5 และ 12% ในไต 46.5 และ 15.4% ในม้าม 45 และ 17% ในกระดูกต้นขาส่วน femur และยังมีผลลดความเข้มข้นของฮีโมโกลบินระหว่าง 23.6 และ 9% และฮีมาโตรคริตลดลงระหว่าง 12.7 และ 7% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารโพลีฟีนอล และอลูมินัมในชามีผลทำให้ธาตุเหล็ก ระดับฮีโมโกลบิน และฮีมาโตรคริตลดลง ซึ่งจะทำให้เกิดโลหิตจางได้

Eur J Nutr 2007;46:453-9