ฤทธิ์ต้านการเกิดออกซิเดชั่น และลดคอเลสเตอรอลของงา

การศึกษาในหนูขาวจำนวน 48 ตัว แบ่งเป็น 6 กลุ่มๆ ละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมเป็นหนูปกติให้กินอาหารปกติ กลุ่มที่ 2 และ 3 เป็นหนูปกติและให้กินอาหารที่มีส่วนผสมของผงงา 5% และ 10% ตามลำดับ กลุ่มที่4 เป็นหนูที่เหนี่ยวนำให้มีระดับคอเลสเตอรอลสูง โดยให้กินอาหารที่มีส่วนผสมของคอเลสเตอรอล 0.5% และ sodium taurocholate 1% ในอาหาร กลุ่มที่ 5 และ 6 เป็นหนูที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และกินอาหารที่มีส่วนผสมของผงงา 5% และ 10% ตามลำดับ ทำการทดลองนาน 4 สัปดาห์ พบว่าหนูกลุ่มที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงและกินอาหารที่มีส่วนผสมของผงงา 5% และ 10% (กลุ่มที่ 5, 6) ระดับไขมันรวมในเลือดลดลง 22% และ 25% ระดับคอเลสเตอรอลลดลง 11% และ 18% ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL-C ลดลง 16% และ 26% และระดับ atherogenic index (AI) ลดลง 29% และ 38% ในขณะที่ระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL-C เพิ่มขึ้น 26% และ 31% ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ และระดับ VLDL-C (very low density lipoprotein) ลดลงเพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง (กลุ่มที่ 4) ในขณะที่หนูปกติ และให้กินอาหารที่มีส่วนผสมของผงงา 5% และ 10% (กลุ่มที่ 2, 3) ไม่พบความแตกต่างของระดับคอเลสเตอรอลต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (กลุ่มที่ 1) นอกจากนี้ยังพบว่าหนูกลุ่มที่มีคอเลสเตอรอลสูง และให้กินอาหารที่มีส่วนผสมของผงงา 5% และ 10% (กลุ่มที่ 5, 6) ยังเพิ่มปริมาณการขับถ่ายคอเลสเตอรอล 13% และ 15% กรดน้ำดี 27% และ 29% ในอุจจาระด้วยตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ 4 ในส่วนของการต้านการเกิดออกซิเดชั่น พบว่าหนูกลุ่มที่ 5, 6 สามารถลดระดับสาร malondialdehyde ที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระได้ 21% และ 23% และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ catatase 25% และ 24% เอนไซม์ superoxide dimutase 9% และ 14% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ 4 ในขณะที่หนูปกติ (กลุ่มที่ 2, 3) ไม่มีความแตกต่างในส่วนของสารต้านอนุมูลอิสระเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากการศึกษาสรุปได้การให้หนูที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงกินอาหารที่มีส่วนผสมของผงงา 5% และ 10% สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และต้านการเกิดออกซิเดชั่นได้แต่ไม่มีผลในหนูปกติ

Food Chem Toxicol 2008;46:1889-95