ประโยชน์ของถั่วเหลืองและชาเขียวในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

ผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ≥ 220 มก./ดล. จำนวน 100 คน ชาย 39 คน และหญิง 61 คน อายุเฉลี่ย 52.2 ± 12.2 ปี ไม่เป็นโรคเบาหวาน หรือการทำงานของธัยรอยด์ผิดปกติ ไม่เคยได้รับยาฮอร์โมน ยาลดไขมัน isoflavones ถั่วเหลือง หรือชาเขียว มานานกว่าหรือเท่ากับ 40 วันก่อนทดลอง ทุกคนจะถูกสุ่มแบบอิสระแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม จำนวน 25 คน ได้รับอาหารคอเลสเตอรอลต่ำ (มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลต่ำ และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสูง) กลุ่มถั่วเหลือง จำนวน 25 คน ให้รับประทาน kinako ขนาด 50 ก./วัน (เป็นเมล็ดถั่วเหลืองคั่ว มี isoflavones 31.2 มก.) ทุกมื้ออาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น กลุ่มชาเขียว จำนวน 25 คน ดื่มน้ำชาเขียว 500 มล. ตลอดวัน (ใบชาแห้ง 3 ก. ชงในน้ำ 500 มล. นาน 10 นาที ประกอบด้วย epigallocatechin-3-gallate 145 มก.) และกลุ่มถั่วเหลือง/ชาเขียว จำนวน 25 คน ได้รับถั่วเหลืองและชาเขียวเช่นเดียวกับกลุ่มถั่วเหลืองและกลุ่มชาเขียว ทำการประเมินผล 3 ครั้ง คือเริ่มต้นการทดลอง 45 และ 90 วันหลังการทดลอง ผลการทดลองพบว่า ทุกกลุ่มยกเว้นกลุ่มควบคุมจะมีค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือดเพิ่มขึ้น (total plasma antioxidant capacity) 90 วันหลังการทดลองค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ในกลุ่มชาเขียวเพิ่มขึ้น 17% กลุ่มถั่วเหลือง/ชาเขียวเพิ่มขึ้น 14% กลุ่มถั่วเหลืองจะมีค่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะ 45 วันหลังการทดลองเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเริ่มต้นเท่านั้น คือเพิ่มขึ้น 19%

นอกจากนั้นจะพบว่ากลุ่มถั่วเหลือง/ชาเขียวเท่านั้นที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง 45 และ 90 วันหลังการทดลอง 6% ไม่พบความแตกต่างของ low density lipoprotein (LDL), high density lipoprotein (HDL) และ triacylglycerol ในระหว่างกลุ่ม และไม่พบความแตกต่างของการเกิด lipid hydroperoxides หรือ LDL hydroperoxides ในแต่ละกลุ่ม ดังนั้น การรับประทานถั่วเหลืองและชาเขียวร่วมกันหรืออย่างใดอย่างหนึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ขณะที่การใช้ร่วมกันเท่านั้นที่สามารถลดคอเลสเตอรอลได้

Nutrition 2008;24:562-8