ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase, α-amylase และต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากใบรสสุคนธ์

การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ของสารสกัดเมทานอลจากใบรสสุคนธิ์ (Tetracera loureiri (Finet & Gagnep.) Pierre ex W. G. Craib) และส่วนสกัดที่แยกได้จากสารสกัด ได้แก่ ส่วนสกัดด้วยเฮกเซน ไดคลอโรมีเทน และน้ำ พบว่าสารสกัดเมทานอล และส่วนสกัดด้วยน้ำ ความเข้มข้น 50 มคก./มล. จะมีฤทธิ์ดีที่สุด รองลงมาคือ ส่วนสกัดด้วยไดคลอโรมีเทนและส่วนสกัดเฮกเซนจะมีฤทธิ์ต่ำสุด โดยค่าความเข้มข้นในการยับยั้งเอนไซม์-glucosidase ได้ร้อยละ 50 (IC50) ของสารสกัดเมทานอลและส่วนสกัดด้วยน้ำ มีค่าเท่ากับ 1.8 และ 1.1 มคก./มล. ตามลำดับ ขณะที่ยา acarbose ซึ่งเป็นตัวควบคุมบวก มีค่า IC50 129.6 มคก./มล. สารสกัดเมทานอลและและส่วนสกัดด้วยน้ำ มีผลดีที่สุดในการยับยั้งเอนไซม์ α-amylase เช่นกัน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 40.8 และ 13.4 มคก./มล. ตามลำดับ ในการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl radical scavenging (DPPH) และ ferric reducing antioxidant power (FRAP) พบว่าสารสกัดเมทานอลและและส่วนสกัดด้วยน้ำ จะมีฤทธิ์ดีที่สุด โดยค่า IC50 สำหรับวิธี DPPH เท่ากับ 30.60±3.86 และ 10.61±2.32 มคก./มล. ตามลำดับ เปรียบเทียบกับสาร quercetin ที่มีค่า IC50 5.42±0.36 มคก./มล. และค่า IC50 สำหรับวิธี FRAP เท่ากับ 20.93±0.97 และ 12.45±2.11 มคก./มล. ตามลำดับ เปรียบเทียบกับ trolox (IC50 27.67±1.24 มคก./มล.) ขณะที่ส่วนสกัดด้วยเฮกเซนไม่มีฤทธิ์ จะเห็นว่าสารสกัดที่มีขั้วจากใบรสสุคนธ์มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และ α-amylase ได้ รวมทั้งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาเบาหวานต่อไปได้

Pharm Sci Asia. 2021;48(2):175-84.