ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งของสารสกัดจากใบบัวสาย

การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัด 80% เอทานอลจากใบบัวสาย (Nymphaea lotus L.) ด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picryl hydrazyl radical (DPPH), การยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) และ reducing power พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสาร butylated hydroxytoluene (BHT) ซึ่งเป็นตัวควบคุมบวก ประมาณ 2 เท่า ในการทดสอบด้วยวิธี DPPH (ค่า IC50 เท่ากับ 0.0976±0.25 และ 0.2188±0.02 มก./มล. ตามลำดับ) และมีฤทธิ์ดีกว่า gallic acid ประมาณ 6 เท่า ในการทดสอบด้วยวิธี lipid peroxidation (ค่า IC50 เท่ากับ 0.2367±0.006 และ 1.418±0.01 มก./มล. ตามลำดับ) แต่การทดสอบด้วยวิธี reducing power พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิตามินซี และ BHT (ค่า IC50 เท่ากับ 0.447±0.02, 0.151±0.03 และ 0.07±0.04 มก./มล. ตามลำดับ) การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรท โดยป้อนสารสกัด ขนาด 100, 250 และ 500 มก./กก. เป็นเวลา 3 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าของหนูด้วยการฉีดสารคาราจีแนน 1% เปรียบเทียบผลกับยา diclofenac ขนาด 2 มก./กก. และ hydrocortisone succinate ขนาด 4 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีผลลดการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ โดยฤทธิ์จะแปรผันตามขนาดที่ให้ แต่ฤทธิ์จะน้อยกว่ายา diclofenac และ hydrocortisone succinate การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วยวิธี skin prick tests ในหนูแรท โดยเหนี่ยวนำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ด้วย ovalbumin และฮีสตามีน (histamine) พบว่าสารสกัดขนาด 250 และ 500 มก./กก. มีผลลดขนาดของรอยนูน (wheal) ที่ผิวหนังของหนูได้ในเวลา 2 ชม. หลังจากฉีดฮีสตามีน ขณะที่ยา hydrocortisone สามารถลดขนาดของรอยนูนได้ในเวลา 1 และ 2 ชม. หลังจากฉีดฮีสตามีน นอกจากนี้สารสกัดยังมีผลลดอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงในเวลาหนึ่งชั่วโมง (erythrocyte sedimentation rate; ESR) ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกว่ามีการอักเสบได้ สำหรับการทดสอบในเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF-7, มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Jurkat และเซลล์ตับปกติชนิด Chang liver พบว่าสารสกัดจากใบบัวสาย มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง MCF-7 และ Jurkat ได้ (ค่า IC50 เท่ากับ 155 และ 87.29 มคก./มล. ตามลำดับ) ซึ่งมีฤทธิ์อ่อนกว่าเมื่อเทียบกับสารเคอร์คูมิน (curcumin) (ค่า IC50 เท่ากับ 5.180 และ 2.056 มคก./มล. ตามลำดับ) แต่สารสกัดมีความเป็นพิษต่อเซลล์ตับปกติน้อยกว่าเคอร์คูมิน (ค่า IC50 เท่ากับ 204.2 และ 2.568 มคก./มล. ตาม ลำดับ) สรุปได้ว่าสารสกัดจากใบบัวสาย มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ มะเร็งได้

BMC Complement Med Ther. 2021, 21:22, doi.org/10.1186/s12906-020-03195-w.