ผลของกระเจี๊ยบแดงต่อความดันโลหิต การทำงานของหลอดเลือด ระดับไขมัน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และการอักเสบในผู้ที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease)

การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครเพศชายจำนวน 25 คน ที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในระดับ 1%-10% (ประเมินด้วย QRISK®2) โดยถูกสุ่มให้ได้รับสารสกัดน้ำจากกลีบเลี้ยงของดอกกระเจี๊ยบแดงในปริมาตร 250 มล. (อาสาสมัครจะได้รับปริมาณกระเจี๊ยบแดงเท่ากับ 7.5 ก. สารแอนโทไซยานินทั้งหมด 150 มก. และกรดแกลลิก 311 มก.) หรือได้รับน้ำเปล่า ในมื้อเช้าร่วมกับอาหารที่มีปริมาณไขมันสูง การทดสอบมีระยะพัก (washout period) 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นสลับการทดสอบ ทำการวัดความดันโลหิตในช่วงเริ่มทำการทดสอบ และทุก ๆ ชั่วโมง จนถึง 4 ชั่วโมง และวัดการขยายตัวของหลอดเลือดต่อการไหลเวียนโลหิต (flow mediated dilatation; FMD) ของหลอดเลือดแดงแขน (branchial artery) ในช่วงเริ่มทำการทดสอบ ช่วง 2 และ 4 ชั่วโมงหลังจากดื่มสารสกัด ผลการทดสอบพบว่าการดื่มสารสกัดกระเจี๊ยบแดงมีผลเพิ่มค่าเปอร์เซ็นต์ FMD และปรับปรุงค่าของการต้านอนุมูลอิสระอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีผลต่อสภาวะความแข็งของหลอดเลือดแดง (arterial stiffness) และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่ ผลลดความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวและความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว เพิ่มระดับไนตริกออกไซด์ในปัสสาวะและพลาสมา ลดระดับของกลูโคสในซีรั่มและระดับอินซูลินในพลาสมา ลดระดับของไตรเอซีลกลีเซอรอล (triacylglycerol) และ ซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (C-reactive protein) ในซีรั่ม โดยพบค่าระดับความเข้มข้นสูงสุดในพลาสมาของ gallic acid, 4-O-methylgallic acid, 3-O-methylgallic acid และ hippuric acid อยู่ที่ 1-2 ชั่วโมง หลังได้รับสารสกัดกระเจี๊ยบแดง จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าสารสกัดจากกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงมีผลในการปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือดได้ อาจมีผลช่วยลดลดภาวะการทำงานบกพร่องของหลอดเลือดและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

Nutrient 2019;11(2):pii:E341.doi:10.3390/nu11020341.