ฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำมันไพลที่เตรียมโดยการทอดในน้ำมันมะพร้าว

การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำมันไพล (Phlai oil extract) ในหนูแรทซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่หูด้วย ethyl phenylpropiolate (EPP) โดยเตรียมสารสกัดน้ำมันไพลตามแบบวิธีดั้งเดิม คือ ทอดเหง้าไพลที่หั่นเป็นชิ้นบางๆ ในน้ำมันมะพร้าว ซึ่งใช้อุณหภูมิในการทอดแตกต่างกันสามระดับ คือ อุณหภูมิสูง: 240-260 °C, อุณหภูมิปานกลาง: 170-190 °C และอุณหภูมิต่ำ: 70-90 °C พบว่าสารสกัดน้ำมันไพลที่ใช้อุณหภูมิสูง ขนาด 20 มคล./หู จะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้สูงสุด โดยค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารสกัดในน้ำมันมะพร้าวซึ่งมีผลต้านการอักเสบได้ คือ 25% (ปริมาตร/ปริมาตร) มีรายงานว่าสาร (E)-4-(3´,4´-dimethoxyphenyl)but-3-en-2-ol (compound-D) และน้ำมันหอมระเหยเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบในเหง้าไพล ซึ่งจากการตรวจสอบด้วยวิธี Thin layer chromatography พบ compound-D ในสารสกัดน้ำมันไพลทั้ง 3 ชนิด เมื่อเทียบกับน้ำมันหอมระเหย พบว่าสารบางชนิดในน้ำมันหอมระเหยยังคงมีอยู่ในสารสกัดน้ำมันไพลที่ใช้อุณหภูมิต่ำ แต่จะไม่พบสารเหล่านี้ในสารสกัดที่ใช้อุณหภูมิปานกลางหรืออุณหภูมิสูง

Pharm Sci Asia. 2020;47(1):51-7.