ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อ Candida ของน้ำมันหอมระเหยร่วมกับ chlorhexidine

การทดสอบประสิทธิภาพในการต้านเชื้อราของยา chlorhexidine ร่วมกับน้ำมันหอมระเหย 3 ชนิด ได้แก่ น้ำมันอบเชย (Cinnamomum zeylanicum L.) น้ำมันกานพลู (Eugenia caryophyllata L.) และน้ำมันตะไคร้ (Cymbopogon citratus (DC) Stapf) โดยทดสอบกับเชื้อ Candida 3 ชนิด ได้แก่ Candida albicans ATCC 10231, C. krusei (STCK 1) และ C. tropicalis (STCT 1) และไบโอฟิล์ม (biofilm) ของเชื้อ C. albicans ด้วยวิธี broth microdilution และ chequerboard assays พบว่าการใช้ chlorhexidine ร่วมกับน้ำมันกานพลู น้ำมันอบเชย หรือน้ำมันตะไคร้ จะออกฤทธิ์ร่วมกันแบบเสริมฤทธิ์กัน (synergistic effect) ในการต้านเชื้อ C. albicans โดยมีค่าดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพร่วม (fractional inhibitory concentration index: FICI) เท่ากับ 0.5, 0.375 และ 0.312 ตามลำดับ เช่นเดียวกับการใช้ chlorhexidine ร่วมกับน้ำมันตะไคร้ที่จะเสริมฤทธิ์กันในการต้านเชื้อ C. tropicalis (FICI = 0.5) และ chlorhexidine ร่วมกับน้ำมันหอมระเหยทั้ง 3 ชนิด จะออกฤทธิ์แบบเพิ่มฤทธิ์กัน (additive effects) ต่อเชื้อ C. tropicalis และ C. krusei ส่วนการทดสอบในไบโอฟิล์ม (biofilm) ของเชื้อ C. albicans พบว่า chlorhexidine จะออกฤทธิ์ร่วมกับน้ำมันกานพลูและน้ำมันอบเชยแบบเสริมฤทธิ์กัน (FICI 0.50 และ 0.375, ตามลำดับ) ขณะที่น้ำมันตะไคร้และ chlorhexidine ออกฤทธิ์แบบเพิ่มฤทธิ์กัน (FICI = 1.062) สรุปได้ว่าการใช้ chlorhexidine ร่วมกับน้ำมันกานพลูและน้ำมันอบเชย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคเชื้อราในช่องปากได้

Songklanakarin J Sci Technol 2019;41(1):144-50.