การศึกษาความเป็นพิษของการใช้สารสกัดเอทานอลจากใบของหญ้าหนวดแมวร่วมกับยาเคมีบำบัดเจมไซทาบีน

การศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดเอทานอลจากใบของหญ้าหนวดแมว (Orthosiphon stamineus Benth.) และสาร rosmarinic acid ซึ่งเป็นสำคัญที่พบในหญ้าหนวดแมว เมื่อใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเจมไซทาบีน (gemcitabine) โดยแบ่งหนูเม้าส์ออกเป็น 8 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มควบคุม ได้รับน้ำกลั่นทางปากขนาด 1 มล./กก./วัน กลุ่มที่ 2 ได้รับยาเจมไซทาบีนด้วยการฉีดเข้าทางช่องท้องขนาด 10 มก./กก./3 วัน กลุ่มที่ 3 ได้รับสารสกัดเอทานอลจากใบของหญ้าหนวดแมวด้วยการป้อนทางปาก ขนาด 200 มก./กก./วัน (ขนาดต่ำ)กลุ่มที่ 4 ได้รับสารสกัดเอทานอลจากใบของหญ้าหนวดแมวด้วยการป้อนทางปาก ขนาด 200 มก./กก./วัน ร่วมกับยาเจมไซทาบีนด้วยการฉีดเข้าทางช่องท้องขนาด 10 มก./กก./3 วัน กลุ่มที่ 5 ได้รับสารสกัดเอทานอลจากต้นหญ้าหนวดแมวด้วยการป้อนทางปาก ขนาด 400 มก./กก. (ขนาดสูง) กลุ่มที่ 6 ได้รับสารสกัดเอทานอลจากใบของหญ้าหนวดแมวด้วยการป้อนทางปาก ขนาด 400 มก./กก./วัน ร่วมกับยาเจมไซทาบีนด้วยการฉีดเข้าทางช่องท้องขนาด 10 มก./กก./3 วัน กลุ่มที่ 7 ได้รับสาร rosmarinic acid ด้วยการป้อนทางปาก ขนาด 32 มก./กก. และกลุ่มที่ 8 ได้รับสาร rosmarinic acid ด้วยการป้อนทางปาก ขนาด 32 มก./กก. ร่วมกับยาเจมไซทาบีนด้วยการฉีดเข้าทางช่องท้องขนาด 10 มก./กก./3 วัน ทำการศึกษาเป็นเวลา 14 วัน จากการวิเคราะห์ค่าชีวเคมีในเลือด และผ่าพิสูจน์ลักษณะทางกายภาพของอวัยวะภายใน ไม่พบความเป็นพิษหรือความผิดปกติของสัตว์ทดลองในทุกกลุ่ม ทั้งการป้อนสารสกัดเอทานอลจากหญ้าหนวดแมวหรือสาร rosmarinic acid เพียงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับยาเจมไซทาบีน จึงเป็นการยืนยันความปลอดภัยในการเลือกใช้สารสกัดจากหญ้าหนวดแมวร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งตับอ่อนในอนาคตได้

J Adv Res 2019;15:59-68